เกร็ดความรู้

งานสื่อสาร-ประชาสัมพันธ์การปฏิรูปการศึกษา ยุคไทยแลนด์4.0 กลยุทธ์ "กระเพื่อมรอบทิศ" : People สู่ PISA !

Description  
รายละเอียด
มองมิติการพัฒนาการศึกษาไทยแบบบ้านๆ แบบไม่ต้องเทียบเคียงกับนานาชาติ หรือสากลโลก ให้เจ็บปวดกระดองใจ ประเด็นเรื่อง “การสื่อสาร-การประชาสัมพันธ์” ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธาน Super Board ก็ยังพูดถึง “การมีส่วนร่วม” ของภาคประชารัฐ ซึ่งย้อนตะเข็บไปก็คือ ความรับผิดชอบ ความตระหนัก ที่มีหน่อเนื้อต้นทุนอยู่ที่ “ความรู้ความเข้าใจ” ของสาธารณชนและภาคประชาชนเป็นจุด start
 
การสื่อสาร-การประชาสัมพันธ์การบริหารจัดการศึกษา ที่จำเป็นต้องเป็นให้มากมายกว่า information และให้มากกว่า public relation จึงเป็นเรื่องที่ superboard ด้านการศึกษา ควรที่จะหยิบนับจับคลี่แบบถามไถ่ถึงกลยุทธ์ใดบ้างที่ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเลยในชั่วโมงปฏิรูปการศึกษากับการพัฒนาประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0
 
หากมองว่าวิกฤตประเทศก่อนการปฏิวัติโดยคสช. เมื่อพฤษภาคม 2557 มีต้นทางมาจาก “คุณภาพ-คุณธรรมสังคม” ที่มีพลวัตรและกลไก “ผู้คนในแวดวงการเมืองหมุนเวียนว่ายตายเกิด” เป็นตรรกะ คุณภาพผู้คนในประเทศนี้ก็ย่อมมีที่มาที่ไปจากคุณภาพการศึกษาหรือกระบวนการอบรมกล่อมเกลาเป็นต้นทุน โดยไม่ต้องขีดวงเฉพาะการศึกษาระดับใดให้กินแหนงแคลงใจกัน
 
การปฏิรูปการศึกษาไทยจะสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมแบบนับหนึ่งและก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง มั่นใจ ยั่งยืน จำเป็นต้องเริ่มต้นที่ประชาชน โดยประชาชนเป็นฐานและต้องพร้อมเปิดแนวร่วมแห่งการรับรู้ รับคิด รับทำ รับผิดชอบแบบถ้วนทั่วทั้ง “ผู้คนในแนวตะเข็บชายแดน บนยอดภูปลายฟ้า คนเมืองภูธรและคนชั้นกลาง-ชั้นสูงในนครบาล” ซึ่งก็หมายถึงการลดความเหลื่อมล้ำที่รัฐบาลปัจจุบันชูธงแบบลุยถั่วแต่มิได้ปลูกฝังเมล็ดพันธ์แห่งความ “แกร่ง กล้าและก้าวไกล” ไว้ในแผ่นดินการศึกษาชาติ ศตวรรษที่ 21
 
การสื่อสารและการประชาสัมพันธ์การศึกษาจึงต้องเป็นให้มากกว่า งานฝากหรือกิจกรรมแฝงและต้องเป็นให้มากกว่า info graphic และ information ตราบที่ประชาชนวันนี้ยังไม่รู้ แต่ประชากรวัยเรียนจะต้องรู้ เพื่อการก้าวมั่นไปสู่ความเป็นพลโลกในยุค Digital และต้องทำให้ได้มากกว่า startup Thailand 4.0 นั่นคือ ความรู้คู่คุณธรรมแบบเข้าใจ เข้าถึง นำไปสู่การพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ตามแนวพระราชปณิธานในหลวง รัชกาลที่ 9 นั่นเอง
 
หากแต่การปฏิรูปการศึกษาในยุค startup ที่รัฐบาลคสช. ยังต้องอาศัยแนวร่วมจากภาคประชาชน จากความเหลื่อมล้ำสู่การจับมือประชารัฐ โดยขว้างหินถามทางและเดินหน้า single command ตามอัตลักษณ์สถานการณ์การเมือง จึงมิใช่สูตรสำเร็จสำหรับประชาชนที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ซึ่งก็ย่อมนำไปสู่การขาดความตระหนัก ขาดความรับผิดชอบและสุดท้ายก็คือ การขาดการร่วมไม้ร่วมมือและขาดการมีส่วนร่วม แบบคาดไม่ถึงความ ตามไม่เท่าทัน ปรากฏการณ์รู้ไม่เท่ากัน จึงเป็นปัญหาของการสื่อสารจากหน่วยงานภาครัฐถึงภาคประชาชนและภาคประชาสังคม
 
ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเพื่อการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในมิติทางด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการ restart มากกว่า reset นั่นคือ การนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมา adopt adapt หรือ apply ใหม่ ในยุคที่รัฐบาลปัจจุบันยังสูญญากาศฐานคะแนนเสียง บรรยากาศฉกชิงวิ่งราวบารมี เก้าอี้ ผลประโยชน์ยังไม่มี ขณะที่ปรากฎการณ์กลไกการเมืองยังไม่เข้ามาแกว่งกวน ในยุคที่พัฒนาการศึกษาไทยในเชิงโครงสร้างยังต้องลุ้นระทึกกับมาตรา 44 ในยุคสมัยที่รัฐบาลเตรียมเขย่าครม.“ประยุทธ์ 4” ซึ่งหนึ่งในกระทรวงที่ถูกท้าทายและถูกค่อนขอดว่าใช้ “เสนาบดี” เปลืองที่สุดและคุณภาพ ประสิทธิภาพก็ถูกโจษขานอื้ออึงช้ำแล้วซ้ำเล่ามาอย่างยาวนานมากที่สุดกว่าทศวรรษก็คือ กระทรวงศึกษาธิการ
 
1.กระบวนการปฏิรูปการศึกษาโดยคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาหรือ Super Board ต้องเพิ่มเติมแนวทางหรือชูธงกลยุทธ์กระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจไปสู่ประชาชนอย่างเป็นระบบและอย่างเข้มแข็งในห้วงระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัด คู่ขนานไปกับช่วงระยะเวลา Roadmap เส้นทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคแบบต้อง “กระเพื่อมรอบทิศ”
 
2.การเชื่อมโยงโครงข่ายสื่อสารมวลชนสายการศึกษาคู่ขนานภาคประชารัฐ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยสร้างกระบวนการ “สื่อรู้ สื่อเข้าใจ สื่อมีส่วนร่วมและสื่อสารอย่างมีคุณภาพ” ในทุกแขนงประเภทสื่อ media application innovation และ program
 
3.พัฒนาและสร้างสรรค์กระบวนทัศน์การสื่อสารประชาสัมพันธ์การปฏิรูปการศึกษา นโยบายรัฐด้านการศึกษา ทั้งเทคนิควิธี การบูรณาการ การส่งต่อสาธารณชน องค์คณะบุคคลผ่านกระบวนการหน่วยงานนิติบุคคลให้ดำเนินไปในลักษณะนโยบายกึ่ง agenda มีกระบวนการติดตาม การประเมินผล พัฒนาและยกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อยุคสมัย ICT ธุรกิจการสื่อสารภาคเอกชนและพัฒนาการไทยแลนด์ 4.0
 
4.ยกระดับองค์กรด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์การศึกษาของหน่วยงานการศึกษาในทุกภาคส่วนให้เป็นหน่วยสื่อสารที่สร้างสรรค์บุคลิกภาพ knowledge worker หรือความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ คู่ขนานกับการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ ทั้งด้านภาษา ทักษะการวิเคราะห์ บูรณาการ กลยุทธ์การ “กัน ก่อ แก้” และสัญชาติญาณ “จมูกมด” สร้างสรรค์ ออกแบบและพัฒนาสื่อรองรับแนวคิดและกลไกวิธีการจากภาครัฐสู่ภาคประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ชัดเจนและโดนใจควบคู่ไปกับความรู้ความเข้าใจแบบ two way ของผู้บริโภคข่าวสารในโลก“นักข่าวภาคพลเมืองผ่านสื่อ smartphone” มหึมามหภาคหลากหลายรูปแบบพลวัตรขับเคลื่อน
 
การสื่อสารพัฒนาการงานด้านการปฏิรูปการศึกษาเพื่อประชาชนบังเกิดความเข้ารู้ความเข้าใจอันจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมและพลังขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเอกภาพนั้น มีศาสตร์และกระบวนการขั้นตอนที่มากกว่ารูปแบบสื่อข่าวทั่วไป การที่จะให้บังเกิดปฏิกิริยาข่าวสารการศึกษา “แปลก ใหม่ ใหญ่ ดัง”ในเชิงลบและกระตุ้น “ยอดคลิ้กและยอดขาย” จึงเป็นเรื่องง่ายดายตามเหตุการณ์และคดีความ หากแต่งานด้านการศึกษาที่ว่ากันว่า พูดแต่เรื่องแผนปฏิรูปการศึกษามากี่ยุคสมัยรัฐบาลก็ไม่เคยสำเร็จก็เพราะปฏิเสธและมองข้ามความเห็นต่างในการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชนก่อนถึงนโยบายประชารัฐด้วยซ้ำไป
 
“การสื่อสารประชาสัมพันธ์การศึกษา” กระบวนการหนึ่งของการจัดการศึกษาให้บังเกิดประสิทธิภาพและเอกภาพคู่ขนาน Time Line ปฏิรูปการศึกษาและปฎิรูปประเทศ โต๊ะกลมหรือ warroom บัญชาการพัฒนามีปฏิบัติการเชิงรุก แผน kick off หลายวิธีคิดและแผน R & D มาแล้วมากมายชิ้นงาน หากไม่ทบทวนหรือลองฟื้นฝอยหาตะเข็บว่า ในเมื่อบริหารระบบรัฐและข้าราชการได้แต่ทำไมยังขาดพลังประชาชนเป็นแนวร่วม ?
 
หากวันนี้เส้น mindmap การปฏิรูปการศึกษาไทยยังไปไม่ถึง“ความรู้ความเข้าใจ”ของประชาชน ก็หมายความว่า กระบวนการยังอ่อนเปราะในเรื่องเดียว คือเรื่อง การสื่อสารและการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมได้อย่างเชื่อมั่น-เชื่อมือของทุกแผนปฏิรูปการศึกษาไทยนั่นเอง....
 
การปฏิรูประบบประชาสัมพันธ์และการสื่อสารการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้เดินหน้าอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพทั้งในปัจจุบันวันนี้และอนาคตวันหน้า การให้ความสำคัญกับ people ก่อนถึง pisa การเปลี่ยน “จุดดับให้เป็นจุดเด่น เปลี่ยนจุดซ่อนเร้นให้เป็นจุดขาย”
 
กลยุทธ์ “กระเพื่อมรอบทิศ” นี้ต้องฝากไว้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ครับ !
สร้าง 20/11/2017 00:00:00
แก้ไขล่าสุด 20/11/2017 00:00:00
จำนวนผู้ชม 1722
ไฟล์แนบ
ลิงค์เชื่อมโยง
ภาพประกอบ
ภาพประกอบ: -