การประดิษฐ์อักษรไทย

การประดิษฐ์อักษรไทย

๑. ประดิษฐ์อักษรไทย

ที่มา/ความสำคัญ

           ทุกชนชาติในโลกล้วนมีภาษาพูดเป็นเอกลักษณ์ทางพหุวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมาช้านาน หลายชาติในโลกไม่มีภาษาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรของตนเอง ต้องหยิบยืมตัวอักษรของชาติอื่นมาประดิษฐ์เป็นตัวอักษรของชาติตน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย (เขียนด้วยอักษรละติน) รวมทั้งภาษาเขียนของประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป ก็ประดิษฐ์ขึ้นจากอักษรละตินเช่นกัน แต่ชาติไทยเรามีหนังสือไทยเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๒๖ เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเป็นครั้งแรก และให้จารึกลงในหลักศิลา เรียกว่า “จารึกพ่อขุนรามคำแหง พุทธศักราช ๑๘๓๕” ความว่า

           “เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหง หาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้ พ่อขุนพระรามคำแหงนั้นหาเป็นท้าวเป็นพระยาแก่ไทยทั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไทยทั้งหลาย ให้รู้บุญรู้ธรรมแท้ แต่คนอันมีในเมืองไทยด้วยรู้ ด้วยหลวัก ด้วยแกล้ว ด้วยหาญ ด้วยแคะ ด้วยแรง หาคนจักเสมอมิได้...”

           หลักฐานการประดิษฐ์หนังสือไทยนี้ยังปรากฏข้อความในหนังสือจินดามณี ที่พระโหราธิบดีเป็นผู้แต่งถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งอยุธยา ฉบับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีข้อความว่า

           “อนึ่งมีในจดหมายเหตุแต่ก่อนว่า ศักราช ๖๔๕ มแมศก พญาร่วงเจ้าได้เมืองศรีสัชนาไลยได้แต่งหนังสือไทย และจะได้แต่งรูปก็ดี แต่งแม่อักษรก็ดี มิได้ว่าได้แจ้ง...”

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

ลายสือไทยที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐ์ขึ้น มีปรากฏหลักฐานการใช้ภาษาไทยและอักขรวิธี อยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ หรือ “จารึกพ่อขุนรามคำแหง พุทธศักราช ๑๘๓๕” ซึ่งจัดทำขึ้นภายหลังการประดิษฐ์หนังสือไทยถึง ๙ ปี สะท้อนให้เห็นถึงช่วงเวลาของการประมวลความรู้ก่อนจารึกลงในหลักหิน ทั้งนี้ เชื่อกันว่า ข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ มีเพียง ๑๘ บรรทัด ในด้านที่ ๑ เท่านั้นที่จารึกในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ส่วนที่เหลือทั้ง ๔ ด้าน จารึกเพิ่มเติมในสมัยต่อมา อนึ่ง จารึกหลักนี้ประดิษฐานไว้ที่เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย (ศิลาจารึกหลักอื่น ๆ พบในวัด) แสดงว่า พระองค์ทรงต้องการให้ชาวสุโขทัยพบเห็นตัวหนังสือไทย หรือส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และใช้ภาษาไทยแทนการใช้ตัวหนังสือขอม (เขมรโบราณ) ที่เคยใช้มาก่อน และส่งผลให้คนไทยได้จดบันทึก สะสมความรู้และวิทยาการด้านต่าง ๆ รวมทั้งภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม และถ่ายทอดความรู้นั้นสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ปรากฏในจดหมายเหตุโหร ตำนานพระราชพงศาวดาร และวรรณกรรมประเภทต่าง ๆ

ลักษณะสำคัญของลายสือไทย

จากสารนิพนธ์ ประเสริฐ ณ นคร เรื่องลายสือไทย ได้กล่าวถึงลักษณะสำคัญของลายสือไทยไว้ว่า

๑) การประดิษฐ์ลายสือไทยเป็นการรับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอินเดีย เช่นเดียวกับชนชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ เช่น เขมรโบราณ มอญโบราณ โดยได้มีการประดิษฐ์พยัญชนะและสระเพิ่มขึ้นให้ครบเสียงพูดของคนไทย ขณะที่ชาติอื่นนำตัวหนังสือของอินเดียมาใช้โดยไม่ได้ประดิษฐ์เพิ่ม จึงปรากฏว่ามีคำที่อ่านออกเสียงได้หลายเสียงและมีความหมายต่างกัน เช่น คำในภาษาเขมรโบราณ เวลาอ่านต้องดูความหมายของประโยคก่อนจึงจะอ่านออกเสียงได้ถูกต้อง

    พ่อขุนรามคำแหงได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษร สระ และวรรณยุกต์ (ไม้เอกและไม้โทในรูปกากบาท) ทำให้เขียนคำไทยได้ทุกคำ ทั้งนี้ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ มีพยัญชนะไทยเพียง ๓๙ ตัว (พยัญชนะไทยมีทั้งหมด ๔๔ ตัว) และเชื่อว่าพยัญชนะไทยอีก ๔ ตัว ที่ขาดไป คือ ฌ ฑ ฒ และ ฬ คงมีใช้อยู่แล้ว เพราะปรากฏในศิลาจารึกสมัยต่อ ๆ มา ยกเว้น ฮ น่าจะเกิดขึ้นภายหลัง พบการใช้ “ฮ” ครั้งแรก ในคำว่า “พระฮาม” ในนันโทปนันทสูตรคำหลวง พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร พ.ศ. ๒๒๗๙

๒) ลักษณะของตัวหนังสือของพ่อขุนรามคำแหง คือ พยัญชนะทุกตัวเรียงอยู่บรรทัดเดียวกัน ไม่มีการเขียนพยัญชนะซ้อนเหมือนตัวหนังสือของเขมร มอญ พม่า ทั้งสระและพยัญชนะอยู่ระดับเดียวกันแบบเดียวกับตัวหนังสือของชาติตะวันตก

๓) อักขรวิธีที่ใช้ในลายสือไทย ทำให้อ่านได้ง่าย ไม่กำกวม ดังนี้

    ๓.๑) พยัญชนะต้นและสระเขียนเชื่อมติดกัน เช่น กา

    ๓.๒) เมื่อมีตัวสะกดจะเขียนแยกออกไป เช่น กา น

    ๓.๓) อักษรควบกล้ำเขียนเชื่อมติดกัน เช่น กรา บ

    ๓.๔) อักษรนำเขียนเชื่อมติดกัน เช่น แหน ง

    ๓.๕) ไม้หันอากาศยังไม่มีใช้ แต่ใช้ตัวสะกดสองตัวแทน เช่น

                     อัง       เขียนเป็น อ งง

                     อัน       เขียนเป็น อ  นน

    ๓.๖) สระออและสระอือ ไม่ต้องเขียน อ เช่น

                     พ่อชื่อ   เขียนเป็น พ่ชื่

    ๓.๗) สระอิ อี อือ อุ อู นำมาเขียนข้างหน้าติดกับพยัญชนะต้น เช่น

                     ปีน       เขียนเป็น กี ป น

                     เมือง     เขียนเป็น กื เมอ ง

ลายสือไทยที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนี้ได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไทย) ทั้งรูปแบบตัวอักษร (เปลี่ยนเล็กน้อย) และอักขรวิธี (เปลี่ยนแปลงมาก) อาจเนื่องจากชาวสุโขทัยเคยชินกับการเขียนหนังสือขอมมาก่อน เช่น อักขรวิธีการวางรูปสระบางตัวไว้ข้างบน บางตัวไว้ข้างล่างพยัญชนะ ในรัชกาลพระยาลิไทยจึงหันไปใช้วิธีการเดิม นอกจากนี้ ยังได้เริ่มใช้ไม้หันอากาศแทนการใช้พยัญชนะสองตัวแบบลายสือไทย ในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๐๒ – ๑๙๐๔ รวมทั้งการรับอิทธิพลจากภาษาบาลี ทำให้การสะกดคำแตกต่างจากเดิม เช่น คำว่า ไท (ในจารึกพ่อขุนรามคำแหง) เปลี่ยนเป็น ไทย ในสมัยพระยาลิไทย

อักษรไทยมีวิวัฒนาการสืบต่อมาจนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตัวอักษรไทยในสมัยนี้มีรูปร่างคล้ายตัวอักษรไทยในสมัยปัจจุบัน เข้าใจว่าเนื่องจากมีหนังสือจินดามณีขึ้น ทำให้รูปแบบตัวหนังสือคงตัวอยู่ รูปตัวหนังสือจึงเปลี่ยนแปลงต่อไปน้อยมาก หลักฐานจากหนังสือจินดามณีแสดงว่าในสมัยอยุธยา อักษรไทย ประกอบด้วย พยัญชนะ ๔๔ ตัว รูปสระ ๒๑ รูป ๓๒ เสียง วรรณยุกต์ ๔ รูป เช่นเดียวกับภาษาไทยในปัจจุบัน

ในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศใช้รัฐนิยม ฉบับที่ ๙ เรื่อง ภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ สาระสำคัญ คือ ให้ชนชาติไทยจะต้องยกย่อง เคารพ และนับถือภาษาไทย และจะต้องถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองดี ประการหนึ่งคือศึกษาให้รู้หนังสือไทยอันเป็นภาษาของชาติ อย่างน้อยต้องให้อ่านออกเขียนได้ หลังจากนั้น รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยให้พิจารณาปรับปรุงอักษรไทยและอักขรวิธีไทย เพื่อให้การสะกดคำในภาษาไทยกะทัดรัดและลดความซ้ำซ้อนของตัวอักษรลง โดยได้ประกาศให้ใช้อักษรไทยตามอักขรวิธีแบบใหม่ ในประกาศราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๓๕ เล่ม ๕๙ วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ เรื่อง การปรับปรุงอักษรไทย สาระสำคัญ คือ

๑) การยกเลิกการใช้สระ ใ-, ฤ, ฤา, ฦ, ฦา

๒) ยกเลิกการใช้พยัญชนะ ฃ, ฅ, ฆ, ฌ, ฎ, ฏ, ฐ, ฑ, ฒ, ณ, ศ, ษ, ฬ

๓) ใช้หลักเกณฑ์ ดังนี้

    ๓.๑) คำที่เคยใช้ -ใ- (ไม้ม้วน) ให้ใช้ ไ- (ไม้มลาย) แทน

    ๓.๒) คำที่เคยใช้ ฤ, ฤา ให้ใช้ ร (เรือ) แทน คำที่ใช้ ฦ, ฦา ให้ใช้ ล (ลิง) แทน

    ๓.๓) คำที่เคยใช้ ฆ (ระฆัง) ให้ใช้ ค (ควาย) แทน

    ๓.๔) คำที่เคยใช้ ฌ (เฌอ) ให้ใช้ ช (ช้าง) แทน

    ๓.๕) คำที่เคยใช้ ฏ (ชฎา) ให้ใช้ ด (เด็ก) แทน คำที่ใช้ ฏ (ปะฏัก) ให้ใช้ ต (เต่า) แทน

    ๓.๖) คำที่เคยใช้ ฐ (ฐาน) ให้ใช้ ถ (ถุง) แทน

    ๓.๗) คำที่เคยใช้ ฑ (มณโฑ) ถ้าอ่านออกเสียง ด ให้ใช้ ด แทน ถ้าอ่านออกเสียง ท ให้ใช้ ท แทน

    ๓.๘) คำที่เคยใช้ ฒ (ผู้เฒ่า) ให้ใช้ ธ (ธง) แทน

    ๓.๙) คำที่เคยใช้ ณ (เณร) ให้ใช้ น แทน

    ๓.๑๐) คำที่เคยใช้ ศ, ษ ให้ใช้ ส แทน

    ๓.๑๑) คำที่เคยใช้ ฬ ให้ใช้ ล แทน

๔) คำที่ไม่ได้มาจากคำบาลี – สันสกฤต ให้เขียนตามระเบียบคำไทย เช่น

    บรรจุ    ให้ใช้  บันจุ         ควร     ให้ใช้                ควน     กระทรวง ให้ใช้    กระซวง

    เจริญ    ให้ใช้  จเริน        สำคัญ   ให้ใช้                สำคัน

หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงครามพ้นจากตำแหน่งเมื่อปลาย พ.ศ. ๒๔๘๗ รัฐบาลชุดต่อมาได้ประกาศยกเลิกการใช้อักขรวิธีภาษาไทยดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้รับความนิยมและขัดกับความเคยชินกับอักษรไทย
จึงกลับมาใช้อักขรวิธีไทยตามแบบเดิม

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           จารึกพ่อขุนรามคำแหง พุทธศักราช ๑๘๓๕