ไตรภูมิพระร่วง

ไตรภูมิพระร่วง

๒. ไตรภูมิพระร่วง

ที่มา/ความสำคัญ

ไตรภูมิพระร่วงหรือไตรภูมิกถา เป็นพระราชนิพนธ์พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไทย) เมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๘ ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช ครองเมืองศรีสัชนาลัย ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์สุโขทัย ทรงพระนามว่า “พระเจ้าศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช” พระองค์ทรงเชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนามีพระปรีชารอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก อรรถกถา และคัมภีร์พระพุทธศาสนาอื่น ๆ รวมทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี และภาษาขอม (เขมรโบราณ) ได้ทรงรวบรวมคัมภีร์พระพุทธศาสนาต่าง ๆ รวม ๓๐ เรื่องมาเรียบเรียงเป็นหนังสือ “ไตรภูมิกถา” ขึ้น โดยทรงมีวัตถุประสงค์เพื่อเทศนาถวายพระราชมารดา เพื่อเป็นธรรมทานแก่บุคคลทั่วไป และเพื่อทำนุบำรุงศาสนธรรม ให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป

           ไตรภูมิพระร่วงหรือไตรภูมิกถา เป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน เพราะมีการคัดลอกต่อ ๆ กันมา มีการดัดแปลงสำนวนและแทรกเติมข้อความเข้าไปบ้างตั้งแต่สมัยอยุธยา สืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ฉบับที่นำมาตรวจสอบชำระเป็นฉบับใบลาน จารด้วยอักษรขอม รวม ๒ ฉบับ คือ ฉบับพระมหาช่วย วัดปากน้ำ จังหวัดเพชรบุรี (เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑) ฉบับพระมหาจันทร์ (พ.ศ. ๒๓๓๐) และต้นฉบับพิเศษ ซึ่งตามลักษณะอักษรน่าจะจารขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นอักษรไทย

           ไตรภูมิพระร่วงหรือไตรภูมิกถา นอกจากมีความสำคัญทางด้านเนื้อหาที่ใช้ในการเทศนาอบรมสั่งสอนผู้คนให้กระทำแต่ความดี และเชื่อว่าหากได้ฟังไตรภูมิกถาแล้วจะได้เกิดในสมัยพระศรีอาริย์ อันเป็นสมัยที่อุดมสมบูรณ์ ชีวิตมีความสุขสงบ แล้วยังสะท้อนถึงพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษไทย  “พระยาลิไทย” ผ่านการศึกษาเรียนรู้ ด้วยการ (๑) ศึกษาด้วยพระองค์เองจากพระไตรปิฎกและคัมภีร์จำนวนมาก (๒) ศึกษาจากพระเถระผู้ทรงความรู้เป็นเลิศทั้งชาวสุโขทัย ชาวหริภุญไชย พระสงฆ์ ที่มาจากนครพัน (เมืองเมาะตะมะเป็นหัวเมืองมอญในพม่า) และพระสงฆ์จากศรีลังกา (๓) ศึกษาจากราชบัณฑิต และ (๔) ศึกษาจากการส่งหนังสือสอบถามไปยังพระมหาเถรพุทธโฆษาจารย์ที่เมืองหริภุญไชย (ลำพูน) 

ไตรภูมิพระร่วงหรือไตรภูมิกถาจึงถือเป็นหลักฐานสำคัญ แสดงผลของการจัดการศึกษาในสมัยสุโขทัย ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าสมัยสุโขทัยยังมีวรรณกรรมอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง ดังเช่น “สุภาษิตพระร่วง” ที่เชื่อว่ามีการรวบรวมสำนวนโวหาร แต่งเพิ่มเติมหลายยุคสมัยต่อ ๆ กันมา จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จารึกไว้ในแผ่นศิลาในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แต่วรรณกรรมอื่น ๆ ได้สูญหายไป อาจเพราะไม่มีการคัดลอกสืบต่อกันมา คงเหลือแต่ศิลาจารึกสมัยสุโขทัย (มากกว่า ๕๐ หลัก) ไตรภูมิกถา และสุภาษิตพระร่วงเท่านั้น

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

ไตรภูมิกถา แบ่งออกเป็น ๑๑ กัณฑ์หรือบท เริ่มด้วยคาถานมัสการ ซึ่งเขียนเป็นภาษาบาลี และต่อด้วยข้อความบานแพนก เขียนเป็นหนังสือไทย กล่าวถึงจุดมุ่งหมายและหนังสือที่ใช้ในการเรียบเรียง อารัมภพจน์ กล่าวถึงการเวียนว่ายตายเกิดใน ๓ ภูมิ ประกอบด้วย กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ แล้วจึงเริ่มกัณฑ์ที่ ๑ ปฐมกัณฑ์ นรกภูมิ กัณฑ์ที่ ๒ ทุติยกัณฑ์ ติรัจฉานภูมิ กัณฑ์ที่ ๓ ตติยกัณฑ์ เปรตภูมิ กัณฑ์ที่ ๔ จตุตถกัณฑ์ อสุรกยภูมิ กัณฑ์ที่ ๕ ปัญจมกัณฑ์ มนุสสภูมิ กัณฑ์ที่ ๖ ฉัฏฐกัณฑ์ ฉกามาพจรภูมิ กัณฑ์ที่ ๗ สัตตมกัณฑ์ รูปวจรภูมิ กัณฑ์ที่ ๘ อัฏฐมกัณฑ์ อรูปาวจรภูมิ กัณฑ์ที่ ๙ นวมกัณฑ์ อวินิโภครูป กัณฑ์ที่ ๑๐ ทสมกัณฑ์ โอกาสมหากัลปสุญญตา – กัลปวินาศและอุบัติ กัณฑ์ที่ ๑๑ เอกาทสมกัณฑ์ นิพพานกถา และจบด้วย อวสานพจน์

ชื่อกัณฑ์ทั้ง ๑๑ กัณฑ์นี้ นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาได้เขียนเติมขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสาระสำคัญที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไทย) ได้ทรงอธิบายไว้

ไตรภูมิกถาใช้ภาษาที่มีลักษณะเรียบง่าย เข้าใจได้ชัดเจน เพราะทรงเรียบเรียงขึ้นเพื่อใช้ในการเทศนาสั่งสอนผู้คน มีการใช้สำนวนภาษาที่โน้มน้าวจิตใจคนไม่ให้กระทำความชั่ว ซึ่งจะได้รับโทษในนรกที่มีการทรมานรุนแรง น่าสะพรึงกลัว ดังความในปฐมกัณฑ์ นรกภูมิ ว่า

“...ไพร่ฟ้าข้าไทมากหลาย มักกระทำร้ายแก่คนผู้อื่น ชิงเอาทรัพย์ข้าวของของท่านผู้อื่น ด้วยตนมีกำลังกว่า ครั้นตายได้ไปเกิดในนรกอันชื่อเวตรณีนั้น ยมพะบาลอันอยู่เวตรณีนรกนั้นเทียรย่อมถือไม้ ค้อน มีดพร้า หอก ดาบ หลาว แหลน เครื่องข้าเครื่องแทง เครื่องยิง เครื่องตีทั้งหลายฝูงนั้นเทียรย่อมเหล็กแดง แลมีเปลวพุ่งขึ้นไปดังไฟไหม้ฟ้านั้น ลุกดังนั้นบ่มิวาย ฝูงยมพะบาลจิงถือเครื่องพุ่งเครื่องแทงฝูงนั้นไล่พุ่งไล่แทงไล่ตีฝูงคนนรกด้วยสิ่งดั่งนั้น เขาก็เจ็บปวดเวทนานักหนา อดทนบ่มิได้เลย...”

คุณค่าของไตรภูมิกถาจึงมุ่งหมายให้พลเมืองศรัทธาและปฏิบัติตนตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา  อันจะส่งผลให้สังคมมีความสงบสุข เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซื่อสัตย์สุจริต เป็นประโยชน์ต่อการจัดการปกครองทางด้านรัฐศาสตร์ มีนักวิชาการหลายท่านวิเคราะห์ว่าสาระใน กัณฑ์ที่ ๕ มนุสสภูมิ พระยาลิไทยได้อธิบายถึงผู้เป็นมหาจักรพรรดิราช ในลักษณะกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ มีบุญญาธิการ ได้จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว และลูกแก้ว ด้วยทรงมุ่งหวังให้เมืองต่าง ๆ ที่แตกแยกออกจากอาณาจักรสุโขทัยหลังรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ยอมรับอาณาจักรสุโขทัยและกลับมาสวามิภักดิ์ดังเดิม หรือโน้มน้าวให้เมืองต่าง ๆ ยอมรับอาณาจักรสุโขทัยว่าเป็นรัฐที่มีการปกครองที่ดี มีกษัตริย์ที่ดี ประชาชน อยู่เย็นเป็นสุข

ไตรภูมิกถามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนไทย ไม่ใช่เฉพาะในอาณาจักรสุโขทัยและอาณาจักรใกล้เคียงเท่านั้น แต่ศรัทธา และความเชื่อดังกล่าวยังสืบทอดต่อมาในสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ดังจะเห็นได้จาก “สมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงธนบุรี” และ “ไตรภูมิโลกวินิจฉัย” ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) เจ้ากรมอาลักษณ์เรียบเรียงไตรภูมิกถาขึ้นใหม่ แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าไตรภูมิกถา ฉบับของพระยาลิไทย นอกจากนี้ ไตรภูมิกถายังถือเป็นเอกสาร
ที่มีคุณค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย เพราะเนื้อหาสอดแทรกเรื่องสังคมสุโขทัย เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนา ความเชื่อ อุดมคติ ค่านิยม ภาษาและวรรณคดี

หนังสือไตรภูมิพระร่วงหรือไตรภูมิกถามีการจัดพิมพ์หลายครั้ง และมีผู้นำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสหลายครั้ง หลายสำนวน เป็นหนังสือที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลกในปัจจุบัน

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์พระมหาธรรมราชาที่ ๑ พญาลิไทย ฉบับตรวจสอบชำระใหม่