จินดามณี

จินดามณี

๓. จินดามณี

ที่มา/ความสำคัญ

จินดามณีเชื่อกันว่าเป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทย แต่งโดยพระโหราธิบดีตามรับสั่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในสมัยอยุธยา ความเป็นมาของหนังสือจินดามณี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ว่า “จินดามณีเป็นตำราเรียนหนังสือไทย แต่งไว้พิสดารตั้งแต่หัดอ่านเขียนจนถึงหัดแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน… นอกจากนี้ยังมีเค้าเงื่อนที่จะสันนิษฐานต่ออีกข้อหนึ่งว่า เหตุใดสมเด็จพระนารายณ์จึงมีรับสั่งให้พระโหราแต่งหนังสือ... ด้วยปรากฏในเรื่องพงศาวดารรัชชกาลสมเด็จพระนารายณ์ว่า เมื่อพวกบาทหลวงฝรั่งเศสแรกเข้ามาตั้งสอนศาสนาคริสตังในพระนครศรีอยุธยานั้น มาตั้งโรงเรียนขึ้นสำหรับสอนหนังสือแก่เด็กไทยด้วย อาศัยเหตุนั้นเห็นว่าคงเป็นเพราะสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชดำริว่าถ้าฝ่ายไทยเองไม่เป็นธุระจัดบำรุงการเล่าเรียนให้รุ่งเรืองก็จะเสียเปรียบฝรั่งเศส พระโหราคงเป็นปราชญ์มีชื่อเสียงว่าเชี่ยวชาญอักขรสมัยอยู่ในนั้น สมเด็จพระนารายณ์จึงมีรับสั่งให้เป็นผู้แต่งตำราสอนหนังสือไทยขึ้นใหม่...” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, บันทึกวรรณคดี ปีที่ ๑ เล่ม ๕ พ.ศ. ๒๔๗๕)

หนังสือจินดามณีมีความสำคัญในฐานะแบบเรียนหลวงเล่มแรกของไทยที่ยังคงเหลืออยู่เป็นหลักฐานสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ เนื่องจากการจัดการศึกษาในสมัยสุโขทัยสืบต่อมาจนถึงสมัยอยุธยา สถานที่เรียนคือ สำนักราชบัณฑิตและวัด ผู้สอนคือ ราชบัณฑิตและพระภิกษุ แบบเรียนยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน แล้วแต่ผู้สอนจะเขียนขึ้น หรือสรรหามาใช้สอนลูกศิษย์ของตน จนถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงมีแบบเรียนหลวงขึ้น ทั้งนี้ พระโหราธิบดีได้ระบุว่าได้รวบรวมและเรียบเรียงอักขรภาษาไทยจากหนังสือที่มีผู้แต่งไว้แต่เดิม ดังมีความปรากฏในส่วนต้นของหนังสือว่า

                             “...ข้อยข้าขอเขียนอาทิ                                   อักษรปราชญ์แต่งไว้

                             ให้ชอบตามศัพท์                                            ไว้เป็นฉบับสืบสาย

                             ด้าวใดคลายขอโทษ                                         โปรดแปลงเอาอย่าเตียน

                             ข้อยข้าเขียนตามฉบับ                                        อาทิศัพท์อักษรด่งงนี้”

นอกจากนี้ พระโหราธิบดียังได้ระบุวัตถุประสงค์ของการแต่งหนังสือจินดามณีปรากฏอยู่ในเนื้อหาหลายส่วนว่า เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเพื่อเป็นตำราเรียนสำหรับผู้รับราชการเป็น “เสมียน” หรืออาลักษณ์ และผู้ที่จะแต่งวรรณกรรมทั้งกาพย์ โคลง กลอน ฉันท์ ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จินดามณีจึงน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้วรรณกรรมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเฟื่องฟูขึ้น จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “ยุคทองของวรรณกรรมสมัยอยุธยา”

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

หนังสือจินดามณีเป็นตำราเรียนภาษาไทยที่ใช้กันแพร่หลายตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ผู้ที่สนใจใคร่เรียนรู้จึงต้องเสาะหาต้นฉบับมาคัดลอกไว้ เมื่อมีการคัดลอกต่อ ๆ มาหลายยุคสมัย จึงมีความคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับเดิม ซ้ำผู้เป็นเจ้าของสมุดคัดลอกมีความรู้หรือมีความคิดเห็นอื่นใดก็จะเขียนเพิ่มเติมลงไปในต้นฉบับคัดลอกนั้น บางครั้งก็แต่งเพิ่มเติมหรือจัดหมวดหมู่เรียงลำดับเนื้อหาใหม่ ทำให้จินดามณีมีหลายสำนวน และมีเนื้อหาแตกต่างกัน ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้จำแนกหนังสือจินดามณี ออกเป็น ๔ ประเภท คือ

๑) จินดามณีฉบับความพ้อง มีหลายเล่มสมุดไทย ข้อความส่วนใหญ่คล้ายคลึงกัน และมีข้อความระบุในเนื้อหาว่าพระโหราธิบดีเป็นผู้แต่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓

๒) จินดามณีฉบับความแปลก มีเนื้อหาเพิ่มเติมที่แตกต่างจากฉบับความพ้อง มีต้นฉบับสมุดไทยหลายฉบับด้วยกัน ไม่ได้ระบุชื่อผู้แต่ง แต่ระบุปีที่แต่งคือ พ.ศ. ๒๒๗๕ ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๗๕ – ๒๓๐๑) จึงเรียกชื่อหนังสือนี้ว่า “จินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ”

๓) จินดามณีฉบับพระราชนิพนธ์กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ได้ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเพื่อให้เป็นแบบเรียนสำหรับพระเจ้าลูกยาเธอที่ยังทรงพระเยาว์ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ มักเรียกหนังสือฉบับนี้ว่า “จินดามณีเล่ม ๒”

๔) จินดามณีฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ เป็นฉบับรวมตำราภาษาไทยหลายเล่มเข้าด้วยกัน เช่น ประถม ก กา แจกลูก จินดามณี ประถมมาลา และปทานุกรม และแทรกคำอธิบายเรื่องต่าง ๆ เข้าไปด้วย

หนังสือจินดามณีแต่ละฉบับมีความแตกต่างกัน ดังนี้

๑) หนังสือจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี เริ่มต้นด้วยบทนมัสการ อักษรศัพท์ เป็นการรวบรวมคำยากที่มักอ่านและเขียนผิด ได้แก่ คำพ้องเสียงและคำพ้องความหมาย การใช้คำที่สะกดด้วย ส ศ ษ การใช้ ไม้ม้วน ไม้มลาย การใช้ ฤ ฤา ฦ ฦา การจำแนกอักษร ๓ หมู่ การแจกลูกอักษร การผันอักษรตามรูปวรรณยุกต์เอกและโท การใช้ตัวสะกดในแม่ต่าง ๆ คำเป็นคำตาย และวิธีการแต่งคำประพันธ์ ได้แก่ กาพย์ กลอน โคลงฉันท์ พร้อมตัวอย่างคำประพันธ์ร้อยกรองจากวรรณคดีไทยที่สำคัญ เช่น ลิลิตพระลอ มหาชาติคำหลวง จบด้วยรหัสอักษร ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่รู้เฉพาะผู้ที่ตกลงกันไว้ และตัวอย่างอักษรเลข (วิธีเขียนหนังสือลับโบราณที่ใช้ตัวเลขแทนสระ) ไทยนับ ๓ ไทยนับ ๕ ไทยหลง และฤาษีแปลงสาร

สาระสำคัญในหนังสือจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี มีข้อสังเกตคือ มีบทนมัสการหรือบทไหว้ครูถึง ๔ แห่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าพระโหราธิบดีคงรวบรวมหนังสือบทเรียนภาษาไทยมาจากหลายสำนักมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ จึงมีบทไหว้ครูหลายแห่ง หรือพระโหราธิบดีเขียนเสร็จเป็นตอน ๆ เพื่อใช้ในการสอนลูกศิษย์ แต่ละตอนจึงมีบทไหว้ครูขึ้นก่อน ภายหลังจึงได้รวมเป็นเล่มเดียวกันและเรียกหนังสือนี้ว่า “จินดามณี”

๒) หนังสือจินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ แต่งเป็นความเรียงร้อยแก้ว อธิบายการใช้อักขรวิธีภาษาไทยเท่านั้น ไม่มีภาคฉันทลักษณ์เหมือนฉบับจินดามณีของพระโหราธิบดี เริ่มต้นเรื่องการประดิษฐ์อักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ การแต่งมหาชาติคำหลวงในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๕ แล้วจึงขึ้นเนื้อหาอักขรวิธีภาษาไทย แบ่งเป็น ๔ เรื่อง คือ

    ๒.๑) อักษรไทย ประกอบด้วย สระ พยัญชนะ การอ่านพยัญชนะ และการผันเสียงวรรณยุกต์ตามอักษร ๓ หมู่

    ๒.๒) การใช้ตัวสะกดแม่ต่าง ๆ และแม่ ก กา คำตาย คำเป็น และการใช้ รร (ร หัน)

    ๒.๓) การใช้เครื่องหมายภาษาไทย

    ๒.๔) คำพ้องรูป

๓) หนังสือจินดามณีฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท   แต่งเป็นบทร้อยกรองทั้งฉันท์ กาพย์ ร่าย และโคลง โดยมีความเรียงร้อยแก้วอธิบาย เริ่มต้น ด้วยบทนมัสการ แล้วอธิบายอักขรวิธีภาษาไทย ได้แก่ การจำแนกอักษร ๓ หมู่ การผันเสียงวรรณยุกต์และสระตามอักษร ๓ หมู่ คำควบกล้ำ คำตาย การใช้ตัวสะกดแม่ต่าง ๆ อักษรนำ เครื่องหมายภาษาไทย (ทั้งนี้ ได้อ้างอิงให้ใช้ตัวอย่างในหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดี เช่น การใช้ไม้ม้วน ไม้มลาย) สุดท้ายเป็นการอธิบายการแต่งบทร้อยกรอง กลอน ร่าย กาพย์ โคลง ด้วยการอธิบายหลักการแต่งร้อยกรอง และตัวอย่างของบทร้อยกรองแต่ละประเภท บทสุดท้ายของหนังสือเป็นโคลง มีเนื้อหาสั่งสอนข้าราชการให้ดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม และการถวายพระพรแด่พระมหากษัตริย์       

           หนังสือจินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี ถือเป็นแบบเรียนภาษาไทยฉบับหลวงเล่มแรกของไทย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหลักภาษาไทย ไวยากรณ์ และวิธีการแต่งคำประพันธ์ร้อยกรองประเภทต่าง ๆ ถือเป็นต้นแบบของหนังสือแบบเรียนภาษาไทยที่แต่งขึ้นในสมัยต่อ ๆ มา และหนังสือจินดามณีนี้ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ซึ่งได้ทรงปฏิรูปการศึกษาไทยและโปรดเกล้า ฯ ให้จัดทำแบบเรียนภาษาไทยขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           ๑) หนังสือจินดามณีเล่ม ๑ และหนังสือจินดามณีฉบับใหญ่สมบูรณ์ กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ พุทธศักราช ๒๕๖๑

           ๒) หนังสือจินดามณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ ประกอบด้วย จินดามณีเล่ม ๑ ฉบับโหราธิบดี จินดามณีเล่ม ๒ ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท บันทึกเรื่องหนังสือจินดามณี เรียบเรียงโดยนายธนิต อยู่โพธิ์ และจินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ กรมศิลปากรมอบให้สำนักพิมพ์บรรณาคาร จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๔