การจัดการศึกษาในสมัยสุโขทัย – รัตนโกสินทร์ตอนต้น

การจัดการศึกษาในสมัยสุโขทัย – รัตนโกสินทร์ตอนต้น

๔. การจัดการศึกษาในสมัยสุโขทัย – รัตนโกสินทร์ตอนต้น

ที่มา/ความสำคัญ

           การศึกษาของไทยในสมัยโบราณจากหลักฐานในศิลาจารึกต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษายังอยู่ในวงจำกัด กลุ่มคนที่มีการศึกษาทางด้านภาษาและหนังสือคือกลุ่มผู้ปกครอง โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ที่จะมีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง อาลักษณ์ โหราจารย์ ราชครู กลุ่มนักบวชในศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนา เพื่อใช้ในการศึกษาพระคัมภีร์ทางศาสนา เพื่อประโยชน์ในการเทศนาอบรมประชาชนและกลุ่มคนที่จะรับราชการ (ส่วนใหญ่เป็นบุตรหลานขุนนาง) ส่วนราษฎรทั่วไปซึ่งเป็นไพร่พลเมืองส่วนใหญ่ไม่เห็นความจำเป็นของการเรียนรู้หนังสือ เพราะการดำรงชีวิตในสังคมไม่ต้องอาศัยหนังสือ การรับรู้ข่าวสารของทางราชการอาศัยจากการฟัง “ประกาศ” จากผู้ปกครองในท้องถิ่น วัดและวังจะเป็นสถานศึกษาหรือสำนักเรียน พระเถระผู้มีความรู้ ข้าราชการในกลุ่มอาลักษณ์ และโหราธิบดี จะเป็นผู้สอน ส่วนผู้เรียนที่เป็นราษฎรทั่วไปที่ปรารถนาเรียนรู้หนังสือ ต้องอาศัยวัดเป็นสำคัญ

           การจัดการศึกษาในสังคมไทยมีลักษณะดังกล่าวนี้จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้ทรงปฏิรูปการศึกษาให้เป็นแบบตะวันตก

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

           ๑) การศึกษาในสมัยสุโขทัย (ประมาณ พ.ศ. ๑๗๙๒ – พ.ศ. ๒๐๐๖)

เนื่องจากหลักฐานสมัยสุโขทัยที่หลงเหลือให้สืบค้นได้มีเพียงศิลาจารึกอักษรไทยสุโขทัยและอักษรขอมสุโขทัยที่มีรูปแบบตัวอักษรที่มีลักษณะเฉพาะ ส่วนภาษาในจารึกสมัยสุโขทัยมีทั้ง ภาษาไทย ภาษาเขมร และภาษาบาลี ส่วนหลักฐานอื่น ๆ ทั้งหมด เป็นฉบับคัดลอกในสมัยรัตนโกสินทร์ การศึกษาประวัติศาสตร์ในสมัยสุโขทัยจึงอาศัยการสันนิษฐานเป็นส่วนใหญ่

การจัดการศึกษาของไทยตั้งแต่ก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้น สังคมไทยอยู่ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรโบราณ โดยเฉพาะสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรเขมร (พ.ศ. ๑๗๒๔ – ๑๗๖๑) ทรงขยายอำนาจได้อย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นได้จากศาสนสถานในสุโขทัยและศรีสัชนาลัย และศิลาจารึกอักษรขอมสุโขทัย ภาษาเขมร ทำให้สันนิษฐานว่า สังคมไทยก่อนประดิษฐ์อักษรไทย การเรียนรู้หนังสือเขมร คงเป็นเรื่องสำคัญในการปกครอง มีการใช้หนังสือเขมรในเอกสารราชการ การประกาศกฎหมาย ที่สำคัญคือ การศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์พระพุทธศาสนาอื่น ๆ  ล้วนเป็นอักษรขอมทั้งสิ้น

สถานศึกษาของคนไทยในสมัยสุโขทัย คือ วัด สำหรับลูกหลานของราษฎรและขุนนาง ข้าราชการ และผู้ที่บวชเรียนเป็นพระภิกษุ และวัง สำหรับเชื้อพระวงศ์ ซึ่งไม่ได้เรียนรู้เฉพาะอักษรและภาษา เพื่อการอ่านออกเขียนได้ หรือเชี่ยวชาญจนสามารถนิพนธ์วรรณกรรมได้เท่านั้น แต่ต้องเรียนรู้โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ การใช้อาวุธ การบังคับช้าง ม้า รวมทั้งหลักการปกครอง ซึ่งถือว่าเป็นความรู้สำคัญสำหรับการปกครองบ้านเมืองในสมัยนั้นด้วย

หลังจากที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้น ทั้งพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และอักขรวิธีการใช้ภาษาไทยแล้ว สถานศึกษาทั้งวัดและวัง จึงได้เริ่มอบรมสั่งสอนเยาวชนให้ใช้หนังสือไทย แต่การเรียนรู้หนังสือขอม หรือภาษาเขมร ก็ยังคงอยู่ เนื่องจากสังคมไทยให้ความสำคัญในเรื่องการปฏิบัติตนตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาและการสืบทอด หรือสืบต่อพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ต่อไป ดังจะเห็นได้จากข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ที่ยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า พระองค์ไม่ได้มีพระปรีชาสามารถทางด้านการปกครองบ้านเมืองเท่านั้น พระองค์ยังมีบทบาทสำคัญในการอบรมสั่งสอนคนไทยทั้งหลายให้มีความรู้และปฏิบัติตนในศีลธรรมด้วย ดังในความจารึกว่า

“...พ่อขุนรามคำแหงนั้นเป็นท้าวเป็นพระยาแก่ไทยทั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไทยทั้งหลาย ให้รู้บุญรู้ธรรมแท้ แต่คนอันมีในเมืองไทยด้วยรู้ ด้วยหลวัก ด้วยแกล้วด้วยหาญ ด้วยแคะ ด้วยแรง หาคนจักเสมอมิได้ อาจปราบฝูงข้าเสิก มีเมืองกว้างช้างหลาย...”

สำหรับการจัดการศึกษาสำหรับราษฎรทั่วไป ครอบครัวที่สนใจให้บุตรหลานได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือ คงนำไปฝากตัวเป็นศิษย์พระเถระที่มีความรู้ เพื่อให้ฝึกอ่านเขียนหนังสือไทยได้เบื้องต้น ซึ่งแต่ละสำนักเรียนของแต่ละวัดคงจะได้เขียนหนังสือเรียนขึ้นใช้สำหรับลูกศิษย์ของตน ได้แก่ การแจกรูปตัวอักษรที่เรียกว่า มโน ก ข และแบบฝึกเพื่อให้อ่านออกเขียนได้ก่อน การเรียนภาษาไทยจึงเป็นการเรียนในเบื้องต้น ส่วนผู้ที่ต้องการศึกษาในระดับสูงขึ้นไปคือการเรียนภาษาบาลี และอักษรขอม และภาษาเขมร เพื่อจะศึกษาพระไตรปิฎกและวิทยาการความรู้ด้านอื่น ๆ เช่น โหราศาสตร์ แพทย์

สำหรับการศึกษาเล่าเรียนหนังสือในกลุ่มเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่อาจเริ่มต้นเรียนการแจกรูปตัวอักษรจากพระญาติหรือพระเถระที่เคารพนับถือก่อน เมื่ออายุครบบวชเณรจึงให้ศึกษาจากพระเถระผู้ใหญ่ เพื่อเรียนวิทยาการความรู้ทางด้านอื่น ๆ จนเชี่ยวชาญ ส่วนกลุ่มขุนนางและข้าราชการคงต้องศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมจากงานที่ต้องปฏิบัติ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับเอกสารราชการต่าง ๆ และการพิจารณาคดีความในศาล

 

๒) การศึกษาในสมัยอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓ – พ.ศ. ๒๓๑๐)

การจัดการศึกษาในอยุธยามีลักษณะเช่นเดียวกับสมัยสุโขทัย คือ ศูนย์กลางการศึกษาอยู่ที่วัดและวัง  แต่หากพิจารณาจากหลักฐานสมัยอยุธยาที่กล่าวถึงการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาของพระมหากษัตริย์ เจ้านาย และขุนนาง ทั้งการสร้างวัดและการส่งเสริมพระเถระที่มีความรู้ทางธรรม ล้วนเป็นการสนับสนุนการศึกษาทางอ้อม รวมทั้งวรรณกรรมจำนวนมาก อันเป็นผลมาจากการศึกษาหนังสือไทย แสดงให้เห็นถึงความเจริญทางด้านการศึกษาในกลุ่มของชนชั้นปกครองในสังคมไทย

ในสมัยอยุธยามีชาวตะวันตกเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนา จัดตั้งคลังสินค้าเพื่อรวบรวมสินค้าและแลกเปลี่ยนซื้อขาย มีการจัดตั้งสำนักเรียนของบาทหลวงในคริสต์ศาสนา เพื่อสอนหนังสือแก่เยาวชนและผู้ที่จะเข้ารีตเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนา โรงเรียนของบาทหลวงคริสต์ศาสนา ได้แก่ โรงเรียนศรีอยุธยา โรงเรียนมหาพราหมณ์ วิทยาลัยคอนสแตนติน โรงเรียนสามเณร และวิทยาลัยแห่งชาติ และเชื่อกันว่าเป็นปัจจัยสำคัญให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงปรับปรุงการศึกษาหนังสือไทย โปรดเกล้าฯ ให้พระโหราธิบดีแต่งหนังสือจินดามณีขึ้น ทำให้มีแบบเรียนที่มีมาตรฐาน และคงใช้กันแพร่หลาย ทำให้การศึกษาเล่าเรียนกว้างขวางขึ้น รวมทั้งมีการส่งบุตรหลานข้าราชการไปเรียนวิชาการต่าง ๆ ที่ฝรั่งเศสด้วย

หลักฐานหนึ่งที่กล่าวถึงรายละเอียดของการจัดการศึกษาของไทยในสมัยอยุธยาคือ จดหมายเหตุลาลูแบร์ (La Laubère) ซึ่งเป็นราชทูตฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ – ๒๒๓๑ ได้บันทึกรายละเอียดของการจัดการศึกษาของไทยในสมัยอยุธยา ไว้ว่า

“เมื่อบิดามารดาได้เลี้ยงลูกของตนมาจนอายุได้ ๖ ฤา ๗ ขวบ แล้วก็พาบุตรไปอยู่วัดถวายไว้กะพระสงฆ์ จนได้บวชเรียนเป็นสมณะอันเป็นพรตที่ไม่จำเป็นจะต้องทำกันทั่วหน้า เป็นจริยาวัตรที่สุด แท้แก่ใจ ไม่เป็นการเสียหายอย่างใด ลูกพระเล็ก ๆ จ้อยร่อยนี้ ชาวสยามเรียกว่าเณร (คือ สามเณร) เณรนั้นไม่ใคร่มีใครทำบุญให้ทานให้นัก ได้อาหารกินเหลือจากพระสงฆ์บ้าง ญาติกาเอามาส่งทุก ๆ วันบ้าง เณรบางรูปที่เป็นลูกผู้ดี ฤาผู้มีบรรดาศักดิ์นั้น ถึงแก่มีทาษคนหนึ่งฤามากกว่านั้น มาอยู่คอยปฏิบัติด้วย”

เรียนอะไรกันบ้าง

“พระสงฆ์อันเป็นอาจารย์ในวัดสอนเป็นต้นว่า ให้อ่านให้เขียนหนังสือ แลหัดคิดเลขทำบาญชี โดยเหตุที่ไม่มีอะไรจะเป็นการจำเป็นแก่พ่อค้าแลชาวสยามทั้งปวง ที่ต่างประกอบการทำมาหากินอยู่ด้วยกันทั่วหน้า ทั้งสอนองค์ศีลและองค์ธรรมของพระพุทธศาสนิกะบริษัท แลสอนให้ทราบเรื่องตำนานพระสมณะโคดมบรมพุทธเจ้า อันเป็นศาสดาของพระสงฆ์เจ้าทั้งปวง แต่ไม่มีพงศาวดาร ไม่มีกฎหมาย แลไม่มีวิทยาศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่งมาขยายสอนกันในวัด อนึ่ง คณาจารย์ก็สอนให้ศิษย์เรียนภาษาบาฬี ซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วกว่าครั้งเดียว ว่าเป็นภาษาทางพระศาสนาแลทางกฎหมายของชาวสยาม แต่มีสยามน้อยตัวแม้เรียนเสียเปล่าที่จะรู้ได้ลึกซึ้งดี ๆ ถ้าไม่ได้อุบะสมบทอยู่ในวัดนาน ๆ ฤาไม่ได้เข้ารับรั้วงานราชการในศาลาเวร ฤาโรงศาลตำแหน่งใด ด้วยภาษาบาฬีจะเป็นประโยชน์ต่อผู้รู้ก็แต่ชั่ว ๒ แหล่งเท่านั้น...”

หลังรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเกิดความผันแปรทางการเมืองการปกครอง กษัตริย์ที่ปกครองสืบต่อมาไม่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนเหมือนเช่นเคย นอกจากนี้ ยังได้มีการจำกัดขอบเขตการเผยแผ่คริสต์ศาสนา ดังปรากฏหลักในศิลาจารึกที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๒๗๓ สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ คือ จารึกวัดคริสเตียน เป็นประกาศพระบรมราชโองการ ๔ ประการ โดยสรุปคือ (๑) ห้ามบาทหลวงใช้อักษรขอมและอักษรไทยแต่งหนังสือสอนคริสต์ศาสนา (๒) ห้ามใช้ภาษาไทยสอนศาสนาคริสต์ (๓) ห้ามคนไทยยืมข้าวของเงินทองพวกมิชชันนารีและห้ามเข้ารีต ถ้าทราบว่าผู้ใดเข้ารีตจะถูกลงโทษถึงประหาร (๔) ห้ามพวกบาทหลวงเขียนหนังสือคัดค้านติเตียนศาสนาพุทธ และให้ระมัดระวังการกระทำผิดข้อห้ามทั้งสี่นี้ สันนิษฐานว่าประกาศพระบรมราชโองการฉบับนี้ คงทำให้โรงเรียนและการสอนศาสนาคริสต์แก่เด็กไทยคงยุติลง เหลือแต่เด็กเชื้อสายอื่น เช่น ชาวจีน ญวน เพราะปรากฏว่าโรงเรียนสามเณร ยังคงมีสืบต่อมาจนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐

กล่าวได้ว่า การจัดการศึกษาสมัยอยุธยาคงได้ขยายตัวและมีวิชาการเรียนรู้เพิ่มขึ้น เนื่องจากการติดต่อกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะการศึกษาของเด็กชาย สถานศึกษา ได้แก่

๑) สำนักราชบัณฑิตที่อยู่ในวัง เป็นสำนักเรียนที่สอนหนังสือไทย ทั้งอ่าน เขียน และการคิดเลขทำบัญชี ให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และบุตรหลานขุนนางชั้นสูง รวมทั้งผู้ที่รับราชการในราชสำนัก

๒) สำนักเรียนที่วัด สำหรับสอนหนังสือแก่บุตรหลานขุนนาง ข้าราชการ รวมทั้งพลเมืองทั่วไปเมื่อสนใจเรียนรู้ชั้นสูงต่อไป ต้องอาศัยการบวชเรียนเป็นพระภิกษุ ซึ่งได้เรียนรู้ทั้งด้านภาษาไทย ภาษาเขมร ภาษาบาลี เมื่อสึกออกมาก็สามารถเข้ารับราชการในฝ่ายอาลักษณ์ ธรรมเนียมนี้ปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีพระภิกษุสึกออกมารับราชการเป็นจำนวนมาก

๓) สำนักเรียนของบาทหลวงศาสนาคริสต์ ซึ่งคงได้มีการสอนภาษาต่างประเทศและวิทยาการด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากคัมภีร์และประวัติคริสต์ศาสนา ส่วนการศึกษาของเด็กหญิงนั้นมีโอกาสน้อยมากในการศึกษาเล่าเรียน ยกเว้นสตรีชั้นสูง เช่น เชื้อพระวงศ์คงได้รับโอกาสได้เรียนรู้ภาษาไทยจากสำนักเรียนในบ้าน หรือจากญาติสนิท ดังจะเห็นว่า สตรีชั้นสูงบางคนในสมัยอยุธยาสามารถแต่งวรรณกรรมร้อยกรองได้ ส่วนสตรีส่วนใหญ่คงได้รับการอบรมทางด้านงานบ้านงานเรือนให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมประเพณีไทย

          ๓) การศึกษาในสมัยธนบุรีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

สมัยธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐ – ๒๓๒๕) เป็นสมัยแห่งการฟื้นฟูบ้านเมืองที่เสียหายจากสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ และการรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง การศึกษาของชาวบ้านโดยทั่วไปจึงอาจลดน้อยลงตามสถานการณ์ของบ้านเมือง อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสนับสนุนการศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎก ด้วยการรวบรวมต้นฉบับจากหัวเมืองและคัดลอกพระไตรปิฎกเป็นฉบับหลวงไว้ที่กรุงธนบุรี

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แม้จะมีสงครามต่อเนื่องจากสมัยธนบุรี แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นต้นมา ได้ฟื้นฟูและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง จึงเป็นการสนับสนุนการศึกษาที่วัดไปด้วย การจัดการศึกษายังคงอยู่ที่วัด วัง และบ้าน ยังเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา ดังเช่นบาทหลวงปาลเลกัวซ์ ได้บันทึกถึงการศึกษาของชาวไทยว่า

“....ภายหลังหรือลางครั้งก็ก่อนหน้างานโกนจุก บิดามารดาจะส่งบุตรของตนไปวัดเพื่อให้เรียนอ่าน และเขียน พวกเด็กจะรับใช้พระสงฆ์โดยการเป็นฝีพายหรือศิษย์วัด พระสงฆ์แบ่งอาหารที่ได้รับบิณฑบาตทานให้ แล้วก็สอนให้อ่านหนังสือไปวันละเล็กละน้อย...”

สำหรับเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง เช่น พระเจ้าลูกเธอในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งพระองค์ชายและพระองค์หญิง เมื่อยังเล็ก พระชันษาได้ ๓ – ๗ ปี จะได้เรียนการศึกษาชั้นต้น จากสำนักเรียนในพระบรมมหาราชวังก่อน  โดยพระญาติซึ่งเป็นครูสตรี จากนั้นพระองค์ชายจึงไปเรียนที่วัดเมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร เรียนพระธรรมวินัยและศิลปวิชาการด้านอื่น ๆ ตามพระอัธยาศัย เมื่อลาผนวชแล้วต้องออกมาอยู่นอกพระราชวัง แล้วเรียนเฉพาะด้านต่าง ๆ ส่วนพระองค์เจ้าหญิงก็จะได้รับการฝึกหัดการเรือนในพระบรมมหาราชวังสืบต่อมา รวมทั้งการอ่านเขียนภาษาไทย

อย่างไรก็ตาม เพื่อพิจารณาหลักฐานที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูบ้านเมืองตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๓ ได้มีการประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายราชสำนัก เพื่อรวบรวมชำระกฎหมายที่เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง ชำระพระไตรปิฎกและคัดลอกใหม่ การรวบรวมและแปลวรรณกรรมจากต่างประเทศ เช่น สามก๊ก ราชาธิราช รวมทั้งการแต่งวรรณกรรมที่มีคุณค่าจำนวนมาก สะท้อนให้เจริญความเจริญรุ่งเรืองที่เป็นผลจากการศึกษาทั้งในวัดและราชสำนัก

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ได้ทรงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาของประชาชน ด้วยมีพระประสงค์ให้วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เป็นแหล่งความรู้สำหรับประชาชน จึงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกบทกวีนิพนธ์ และตำราแพทย์แผนโบราณของไทย รวมทั้งการจัดทำแบบเรียนสำหรับการเริ่มต้นเรียน เช่น ประถม ก กา และประถม ก กา หัดอ่าน ซึ่งช่วยให้การเรียนรู้ภาษาไทยได้สะดวกและง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท นิพนธ์หนังสือจินดามณีเล่ม ๒ ขึ้น

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาภาษาต่างประเทศ และเรียนรู้วิทยาการความเจริญจากชาวตะวันตก จึงโปรดเกล้าฯ จ้างชาวตะวันตกมาสอนภาษาอังกฤษให้กับพระราชโอรส ส่วนการเรียนหนังสือไทยนั้น ปรากฏว่าแบบเรียนที่ใช้ศึกษาอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยา มีทั้งหมด ๕ เล่ม คือ ประถม ก กา (และประถม ก กา หัดอ่าน) สุบินทกุมาร ประถมมาลา จินดามณีเล่ม ๑ และ ๒ (ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิท)

กล่าวได้ว่า การจัดการศึกษาของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยสืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นการศึกษาในวัดและวัง ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการจนถึงสมัยปฏิรูปการศึกษา

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           ๑) จารึกวัดตระพังนาค (สมัยสุโขทัย)

           ๒) จดหมายเหตุลาลูแบร์ (ที่อธิบายด้านการจัดการศึกษาสมัยอยุธยา)

           ๓) จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (สมัยรัชกาลที่ ๓)

           ๔) แบบเรียนสมัยต้นรัตนโกสินทร์