แบบเรียนสมัยสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
๕. แบบเรียนสมัยสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ที่มา/ความสำคัญ
สมัยก่อนการบันทึกเรื่องราว เหตุการณ์ พงศาวดาร วรรณคดี วรรณกรรม ตำรายา โหราศาสตร์ หรือเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา จะเขียนบันทึกลงไว้ในหนังสือสมุดไทยหรือสมุดข่อย และหนังสือใบลาน
หนังสือสมุดไทยหรือสมุดข่อยเป็นหนังสือที่บันทึกลายลักษณ์อักษรลงบนกระดาษที่ทำมาจากเปลือกข่อยตามกรรมวิธี แล้วรีดให้เป็นแผ่นเรียบ แล้วเขียนด้วยดินสอหินสีขาวหรือใช้ปากกาจุ่มหมึก สมุดไทยหรือสมุดข่อยใช้กระดาษแผ่นเดียวยาวติดต่อกัน พับกลับไปกลับมา เป็นเล่มหนาหรือบาง ตามความต้องการของผู้เขียน มี ๒ สี สีดำเรียก “หนังสือสมุดไทยดำ” สีขาวเรียก “หนังสือสมุดไทยขาว” เรื่องราวที่บันทึกในสมุดไทยจะเกี่ยวกับพงศาวดาร ตำราต่าง ๆ วรรณกรรม โหราศาสตร์
หนังสือใบลานเป็นหนังสือที่บันทึกลายลักษณ์อักษรด้วยวิธีการ “จาร” ตัวหนังสือลงบนใบลานแล้วเจาะรูร้อยหูด้วยสายสนอง มัดรวมกันเป็นผูกเรียกว่า “คัมภีร์โบราณ” เพราะเนื้อหาที่จารลงบนใบลาน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา อาทิ พระไตรปิฎก พระธรรมคำสอน
สาระสำคัญ/ผลที่เกิด
แบบเรียนสมัยสุโขทัย ไม่ปรากฏแบบเรียนที่ใช้ในสมัยนี้ หลังจากพ่อขุนรามคำแหงมหาราชโปรดเกล้า ฯ ให้ประดิษฐ์อักษรไทย เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๖ แล้ว พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไทย) ทรงนิพนธ์ไตรภูมิพระร่วงหรือไตรภูมิกถาขึ้นในปี พ.ศ. ๑๘๘๘ ด้วยตัวอักษรไทย ซึ่งเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไว้เทศนาถวายพระราชมารดา เพื่อเป็นธรรมทานแก่บุคคลทั่วไป และเพื่อทำนุบำรุงศาสนธรรม
แบบเรียนสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏว่ามีแบบเรียน จนรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรด ฯ ให้พระโหราธิบดีแต่งหนังสือจินดามณีขึ้น มีเนื้อหาตั้งแต่หัดอ่านเขียนจนถึงหัดแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ซึ่งวัตถุประสงค์ของการแต่ง “จินดามณี” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและเพื่อเป็นตำราเรียนสำหรับผู้รับราชการเป็นเสมียนหรืออาลักษณ์ และผู้ที่จะแต่งวรรณกรรมโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน จึงถือว่าจินดามณี เป็นแบบเรียนหลวงเล่มแรก และหนังสือจินดามณีนี้ใช้มาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ ๔)
แบบเรียนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หนังสือจินดามณียังคงเป็นแบบเรียนที่ใช้มาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีหนังสืออื่นที่นำมาใช้เรียนเพิ่มขึ้น เช่น ประถม ก กา ประถมมาลา สุบินทกุมาร ประถมจินดามณีเล่ม ๑ และเล่ม ๒
นอกจากนี้ ยังมีการนำเอาหนังสืออื่นมาใช้ประกอบ คือ เสือโค จันทโครพ สังข์ทอง กากี พระยาสัททันต์ สวัสดิรักษา สำหรับผู้เรียนที่มีความสามารถในการอ่าน ก็จะให้อ่านหนังสือที่สูงขึ้นถึงขั้นวรรณคดี เช่น อนิรุทธ์คำฉันท์ สมุทรโฆษคำฉันท์
ต่อมา เมื่อมีการพิมพ์เกิดขึ้นในประเทศไทย จึงมีการนำเอาเนื้อหาเรื่องราวต่าง ๆ ที่บันทึกไว้ในสมุดข่อยหรือสมุดไทยและในสมุดใบลาน มาจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่จำหน่าย
หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง
๑) จินดามณี ๒) ประถม ก กา
๓) ประถมมาลา ๔) สังข์ทอง
๕) สุบินทกุมาร ๖) เสือโค
๗) จันทโครพ ๘) กากี
๙) พระยาสัททันต์ ๑๐) สวัสดิรักษา
๑๑) อนิรุทธ์คำฉันท์ ๑๒) สมุทรโฆษคำฉันท์