การตั้งโรงพิมพ์

การตั้งโรงพิมพ์

๖. การตั้งโรงพิมพ์

ที่มา/ความสำคัญ

           การพิมพ์ในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) โดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้จัดตั้งโรงพิมพ์ที่วัดซานตาครูส ตำบลกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี และพิมพ์หนังสือสอนศาสนาคริสต์ด้วยอักษรโรมัน แต่อ่านออกเสียงเป็นภาษาไทย  เรื่อง “คำสอนคริสตัง” เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๙ หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหลักฐานการพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย แต่การพิมพ์ดังกล่าวอยู่ในวงจำกัด เพราะใช้แม่พิมพ์บล็อกไม้ ซึ่งพิมพ์ได้ทีละเรื่องเท่านั้น หนังสือแต่ละเล่มจึงมีราคาแพง

           ส่วนการพิมพ์ตัวหนังสือไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศเมียนมา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๙ โดยคณะมิชชันนารีอเมริกัน ชื่อ นางแอนน์ ฮาเซลไตน์ จัดสัน (Ann Hazeltine Judson) ได้ศึกษาภาษาไทยจากคนไทยที่ถูกกวาดต้อนเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ จนสามารถออกแบบตัวพิมพ์หนังสือไทยขึ้นได้ ต่อมา เมื่อพม่าเสียเอกราชแก่อังกฤษ คณะมิชชันนารีได้นำแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์ภาษาไทยมาไว้ที่สำนักงานใหญ่ที่นครกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ซึ่งได้มีการพิมพ์หนังสือไวยากรณ์ไทยสำหรับชาวต่างชาติ (A Grammar of the Thai, Or Siamese Language) แต่งโดยกัปตันเจมส์ โลว์ (Captain James Low) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ ต่อมา คณะมิชชันนารีอังกฤษได้จัดตั้งโรงพิมพ์ที่สิงคโปร์ โดยได้ซื้อตัวพิมพ์หนังสือไทยจากนครกัลกัตตา
มาด้วย และรับจ้างพิมพ์หนังสือศาสนาคริสต์เพื่อเผยแผ่ศาสนาในประเทศไทย

           การพิมพ์หนังสือไทยในประเทศไทย เริ่มต้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) เมื่อหมอบรัดเลย์ หรือนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) และคณะมิชชันนารีอเมริกันได้มาจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่ตรอกกัปตันบุช (โรงพิมพ์แห่งนี้ย้ายที่ตั้งหลายครั้ง) โดยซื้อแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์ภาษาไทยจากเมืองสิงคโปร์ หมอบรัดเลย์ได้ร่วมมือกับบาทหลวงชาร์ลส์ โรบินสัน (Reverend Charles Robinson) ได้พิมพ์หนังสือคริสต์ศาสนาด้วยหนังสือไทยในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่
๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๔๙ (วงการพิมพ์ของประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันที่ ๓ มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันการพิมพ์ไทย) ซึ่งหนังสือที่พิมพ์ได้นี้ หมอบรัดเลย์ได้ใช้ในการแจกจ่ายพร้อมกับการรักษาผู้ป่วย และเทศน์สั่งสอนเผยแผ่คริสต์ศาสนาในที่ต่าง ๆ รวมทั้งในวัดและวัง นอกจากนี้ ยังพิมพ์เอกสารราชการ คือ ประกาศห้ามมิให้คนสูบและค้าขายฝิ่น จำนวน ๙,๐๐๐ ฉบับ โดยราชสำนักไทยได้ว่าจ้างให้จัดพิมพ์เผยแพร่ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒ หมอบรัดเลย์ยังได้พัฒนาระบบการพิมพ์อย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จในการหล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยแบบใหม่ขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๘๔ ซึ่งถ่ายทอดมาจากตัวเขียนลายมือแบบอาลักษณ์ที่งดงาม ตัวอักษรบรัดเลย์นี้ถือเป็นมาตรฐานใหม่ของตัวอักษรไทย อันเป็นการวางรากฐานสำคัญในการพิมพ์สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

           ใน พ.ศ. ๒๓๙๓ คณะมิชชันนารีอเมริกันยุติบทบาทการเผยแผ่ศาสนาในไทยและให้คณะมิชชันนารีเดินทางกลับสหรัฐอเมริกา แต่หมอบรัดเลย์ยังคงอาศัยอยู่กรุงเทพมหานครต่อไป และหันมาทุ่มเทงานด้านการพิมพ์หนังสืออย่างจริงจัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินให้หมอบรัดเลย์สร้างโรงพิมพ์ที่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งหมอบรัดเลย์ได้พิมพ์หนังสือจำนวนมาก จนกระทั่งเสียชีวิตที่กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

           การจัดตั้งโรงพิมพ์และการพัฒนาระบบการพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางด้านการศึกษา การขยายความรู้และวิทยาการต่าง ๆ ของโลก รวมทั้งข่าวสารเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แพร่กระจายได้อย่างกว้างขวาง ทั้งที่เกิดจากผลงานการพิมพ์ของหมอบรัดเลย์และโรงพิมพ์ของชาวไทยที่จัดตั้งขึ้น และพิมพ์หนังสือพิมพ์และหนังสืออื่นๆ ขึ้นหลายแห่ง ดังนี้

           ๑) โรงพิมพ์หลวง เริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งผนวชเป็นพระภิกษุพระนามว่า “วชิรญาณภิกขุ” หรือ “สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ” ทรงสนพระทัยทางด้านการพิมพ์ ความรู้และความก้าวหน้าทางวิทยาการของชาวตะวันตก เมื่อหมอบรัดเลย์สามารถหล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยได้สำเร็จและทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดที่ประทับขณะทรงผนวช) พระภิกษุเป็นผู้เรียงพิมพ์ และจัดพิมพ์หนังสือพระพุทธศาสนาเป็นภาษาบาลี เช่น หนังสือพระปาติโมกข์ บทสวดมนต์ นอกจากนี้ ยังทรงประดิษฐ์ตัวอักษรอริยกะขึ้นใหม่ เพื่อใช้พิมพ์แทนหนังสือใบลานสำหรับพระสงฆ์ ทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้น

ภายหลังที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วใน พ.ศ. ๒๔๙๔ กิจการพิมพ์ในวัดบวรนิเวศวิหารก็ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพิมพ์ที่พระบรมมหาราชวัง เพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง พระราชทานชื่อว่า “โรงพิมพ์อักษรพิมพการ” เป็นโรงพิมพ์หลวง ทำหน้าที่เป็นโรงพิมพ์แห่งชาติเป็นแห่งแรก ผลงานของโรงพิมพ์หลวงแห่งนี้ได้จัดพิมพ์หนังสือราชการสำคัญ เช่น หนังสือราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. ๒๔๐๑ อันเป็นหนังสือวารสารราชการฉบับแรกของประเทศไทย ใช้เผยแพร่ข่าวสารในราชสำนัก และประกาศของราชการต่าง ๆ (หนังสือราชกิจจานุเบกษาถือเป็นวารสารราชการที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด เพราะยังคงพิมพ์สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน) หนังสือกิจจานุกิจของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (พ.ศ. ๒๔๑๐) ครอบคลุมความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์เบื้องต้น และศาสนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้กว้างขวางออกไป หนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของไทย คือ หนังสือพิมพ์ (Court) ของกลุ่มเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ออกเป็นฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๘ โดยมีสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เป็นบรรณาธิการ ในพ.ศ. ๒๔๑๙ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นข่าวราชการ และเลิกกิจการในปีนั้น

           โรงพิมพ์อักษรพิมพการ ดำเนินกิจการขาดทุนต่อเนื่อง จึงเลิกกิจการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้มีการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรกและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระบบการพิมพ์ก้าวหน้าขึ้นด้วยโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอภัยราชาจัดตั้งโรงพิมพ์หลวงขึ้นใหม่ ชื่อว่า กอบเวิร์นแมนพริ้นติ้ง ออฟฟิศ (Government Printing Office) ใน พ.ศ. ๒๔๓๙ ในรัชสมัยนี้มีการจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นหลายแห่ง ทั้งของชาวไทยและชาวต่างประเทศ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในการประพันธ์ ได้มีพระราชนิพนธ์หนังสือประเภทต่าง ๆ จำนวนมาก รวมทั้งบทความต่าง ๆ จัดพิมพ์เผยแพร่ในวารสารและหนังสือพิมพ์ ส่งผลให้การจัดพิมพ์ในช่วงสมัยนี้ จัดทำอย่างประณีตสวยงาม นอกจากนี้เมื่อพระองค์ประกาศให้มีการศึกษาภาคบังคับ การพิมพ์หนังสือเรียนสำหรับเยาวชน และหนังสือความรู้อื่น ๆ โดยเฉพาะวรรณคดีจำนวนมาก ทำให้การศึกษาขยายตัวได้กว้างขวางสืบต่อมา

           ๒) โรงพิมพ์เอกชน โรงพิมพ์ที่จัดตั้งขึ้นในระยะแรกเป็นของชาวตะวันตก เพื่อแข่งขันกับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ ดังนี้

                 ๒.๑) การจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์/หนังสือข่าว

(๑) โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ ได้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์รายเดือนฉบับแรกของไทย เรียกว่า หนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอร์เดอร์ (The Bangkok Recorder) ฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๘๗ ตรงกับวันชาติสหรัฐอเมริกา ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ เพื่อเผยแพร่ข่าวสารและเหตุการณ์สำคัญ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการสาธารณสุข ตลอดจนข้อมูลของสินค้า คำศัพท์ สำนวนภาษาอังกฤษ พงศาวดารต่างชาติ หนังสือฉบับนี้ยกเลิกผลิตเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๘ ภายหลังได้กลับมาฟื้นฟูและผลิตใหม่ ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ – ๒๔๑๐ จึงยุติลง

หมอบรัดเลย์ยังได้จัดพิมพ์หนังสือข่าวรายปี เรียกว่า บางกอกคาร์เลนดาร์ ฉบับภาษาอังกฤษ (Bangkok Calender) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ – ๒๔๑๕ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ในอดีต ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มีปฏิทินรายเดือน ประกาศแจ้งเวลาเรือเข้าออก ประกาศแจ้งความและโฆษณา บทความเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย นอกจากนี้ ยังได้พิมพ์หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์อีกหลายฉบับ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษ เช่น สยามไทม์วีคลี (Siam Times Weekly) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗ เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับแรกของไทย สยามไทม์ (Siam Time) บางกอกเพลส (Bangkok Press) บางกอกซัมมารี (Bangkok Summary)

 (๒) โรงพิมพ์ของ ดร. แซมมวล จอห์น สมิธ (Samuel John Smith) เรียกกันทั่วไปว่าโรงพิมพ์หมอสมิธ เริ่มพิมพ์หนังสือสยามเดลลี แอดเวอร์ไทเซอร์ (Siam Daily Advertiser) เป็นการเสนอข่าวเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ เกี่ยวกับเรือสินค้าเข้า – ออก โฆษณาสินค้า ข่าวคนตาย ต่อมาจึงพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่ด้วยกัน

ใน พ.ศ. ๒๔๒๕ หมอสมิธได้จัดพิมพ์ “จดหมายเหตุสยามไสมย” เป็นหนังสือข่าวรายปี เสนอข่าวสาร เหตุการณ์สำคัญ ปัญหา และความเจริญของบ้านเมือง

(๓) โรงพิมพ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ได้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ดรุโณวาท เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับแรกของคนไทยที่จัดพิมพ์เผยแพร่ประชาชน เริ่มฉบับแรกเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ (ยุติกิจการ พ.ศ. ๒๔๑๘) เนื้อหาเป็นข่าวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ข่าวราชการ หนังสือสุภาษิต และวรรณกรรมสั้น ๆ

                 ๒.๒) การพิมพ์หนังสือเล่ม

หมอบรัดเลย์ได้ริเริ่มจัดพิมพ์หนังสือความรู้เพื่อจำหน่าย โดยหมอบรัดเลย์ได้เรียบเรียงและแปลหนังสือหลายเล่ม และจัดพิมพ์หนังสือตำราแพทย์แผนปัจจุบันเล่มแรกของไทย เรื่อง “คัมภีร์ครรภ์ทรักษา” เป็นความรู้ด้านการคลอดบุตร และการดูแลรักษาทั้งแม่และบุตรให้ปลอดภัย พร้อมภาพประกอบฝีมือคนไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ (ในสมัยรัชกาลที่ ๓)

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ หมอบรัดเลย์ได้จัดพิมพ์หนังสือหลายเล่ม เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ (๑) นิราศลอนดอน (พ.ศ. ๒๔๐๔) แต่งโดยหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร ณ อยุธยา) โดยหมอบรัดเลย์ซื้อลิขสิทธิ์จากหม่อมราโชทัย นับเป็นการเริ่มต้นซื้อขายลิขสิทธิ์ และการพิมพ์หนังสือจำหน่ายครั้งแรกในประเทศไทย หนังสือเรื่องกฎหมายสยาม (พ.ศ. ๒๔๐๕) และวรรณกรรมไทย เช่น สามก๊ก (พ.ศ. ๒๔๐๗)

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ได้จัดพิมพ์หนังสือหลายเล่มโดยเฉพาะหนังสือแบบเรียน เช่น หนังสือ ประถม ก กา (พ.ศ. ๒๔๔๓) จินดามณี อันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาของไทย นอกจากนี้ หนังสือของหมอบรัดเลย์ได้เย็บเข้าเล่มเป็นสมุด ซึ่งนับเป็นของใหม่สำหรับเมืองไทย เพราะหนังสือไทยตั้งแต่ดั้งเดิมเป็นสมุดพับ เช่น สมุดดำ สมุดข่อย ซึ่งรวมเรียกว่า สมุดไทย  หนังสือของหมอบรัดเลย์เย็บเป็นเล่ม จึงเรียกว่า สมุดฝรั่ง

ส่วนโรงพิมพ์ของสมิธได้จัดพิมพ์หนังสือเป็นเล่ม หลายเล่มเช่นกัน โดยเฉพาะหนังสือวรรณคดี เช่น บทกลอน นิราศ สุภาษิต เรื่องที่สำคัญคือหนังสือเรื่องพระอภัยมณี (พ.ศ. ๒๔๑๓) ออกจำหน่ายเป็นหนังสือที่ระลึกงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งได้รับความนิยมมาก เพราะก่อนหน้านั้น การเผยแพร่วรรณกรรมต้องคัดลอกเนื้อหาจากเล่มสมุดไทย ทำให้มีราคาแพง กล่าวกันว่า ความสำเร็จในการพิมพ์หนังสือเรื่อง พระอภัยมณี ทำให้หมอสมิธออกตามหาทายาทของสุนทรภู่ และได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่ทายาทของสุนทรภู่ที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนั้น

กล่าวได้ว่า การพิมพ์ของไทยเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับและเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา และการรับรู้ข่าวสารด้านต่าง ๆ ของชนทุกกลุ่มชนชั้น ทุกวัย และทุกเพศ สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           ๑) ทศวรรษหนังสือและการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๕๐๐ – ๒๕๔๙ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่ พุทธศักราช ๒๕๖๓

           ๒) สารานุกรมสำหรับเยาวชน เล่มที่ ๑๘ เรื่องที่ ๕ ประวัติการพิมพ์ การพิมพ์ของคนไทย มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน (https://www.saranukromthai.or.th)

           ๓) ประวัติการพิมพ์ในประเทศไทยยุคแรก – เอกสารประกอบ : Twentieth Century Impression of Siam – TK Park (http://valuablebook2.tkpark.or.th/2015/13/document20.html)

           ๔) ประวัติการพิมพ์ในประเทศไทย – หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑล กรุงเทพ ฯ (https://catholichaab.com/index.php)