การตั้งโรงเรียนหลวง (โรงสกูลหลวง)

การตั้งโรงเรียนหลวง (โรงสกูลหลวง)

๑. โรงเรียนหลวง (โรงสกูลหลวง)

ที่มา/ความสำคัญ

          การศึกษาที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีบ้าน วัด และวัง(สำนักราชบัณฑิต) เป็นศูนย์กลางการศึกษา กล่าวคือบ้านรับภาระในการดูแลอบรมเด็ก วัดเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่ราษฎรทั่วไปมีพระสงฆ์ที่เชี่ยวชาญทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี เป็นผู้สอนความรู้ให้เหมาะสมตามความต้องการของประเทศ ส่วนวัง (สำนักราชบัณฑิต) จะสอนเฉพาะเจ้านายและบุตรหลานข้าราชการเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง สถานที่ตั้งโรงเรียนอยู่ในบริเวณโรงเรียนทหารมหาดเล็กข้างโรงละครเก่าในสนามต่อจากระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านตะวันตก และโปรดให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

           เมื่อโรงเรียนหลวงแห่งแรกได้จัดตั้งขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงชักชวนพระราชวงศ์และข้าราชการให้ส่งบุตรหลานเข้าเรียน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ การให้ความรู้หนังสือไทย การคิดเลข และขนบธรรมเนียมราชการ สำหรับการเข้ารับราชการ โรงเรียนนี้ต่างจากโรงเรียนแผนโบราณคือ มีสถานที่เล่าเรียนที่จัดไว้โดยเฉพาะมีฆราวาสเป็นครูทำการสอนตามเวลาที่กำหนด วิชาที่สอนมีทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับสอนภาษาอังกฤษอีกโรงเรียนหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕ โดยมีชาวต่างประเทศเป็นครูผู้สอน ชื่อ ฟรานซิส ยอร์ช แปตเตอร์สัน แล้วมีรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกับพระเจ้าลูกยาเธอเข้าเป็นนักเรียน เว้นแต่บางองค์ที่มีตำแหน่งรับราชการแล้ว หรือที่เป็นนักเรียนอยู่แล้วในโรงเรียนภาษาไทย พวกนายร้อยทหารม้าก็โปรด ฯ ให้มาเรียนภาษาอังกฤษด้วย เจ้านายเรียนตอนเช้า พวกนายทหารมหาดเล็กเรียนตอนบ่าย ต่อมาโรงเรียนสกูลหลวงสอนภาษาอังกฤษเลิกไปเมื่อครูลากลับต่างประเทศ โรงเรียนทั้งสองแห่งนี้ขึ้นอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก
ในขณะเดียวกันก็โปรดให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แต่งแบบเรียนหลวง ๖ เล่ม เพื่อใช้ในการเรียนการสอน

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           ภาพโรงเรียนสกูลหลวง