การให้ใช้แบบเรียนหลวง ๖ เล่ม

การให้ใช้แบบเรียนหลวง ๖ เล่ม

๒. แบบเรียนหลวง ๖ เล่ม

ที่มา/ความสำคัญ

           เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ แล้ว โดยมีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่ ได้ยกเลิกแบบเรียนเก่า (จินดามณี ประถม ก กา ประถมมาลา) และให้ใช้แบบเรียนหลวงของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แทนหนังสือเรียนที่ใช้อยู่เดิม หนังสือแบบเรียนหลวง ๖ เล่มนี้ ได้แก่ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

แบบเรียนหลวง ๖ เล่ม มีสาระสำคัญดังนี้

๑) มูลบทบรรพกิจ เป็นหนังสือสำหรับหัดอ่านเป็นเบื้องแรกเพื่อให้เด็กรู้จักตัวสระและพยัญชนะที่จำเป็น แล้วหัดประสม เวลาอ่านแจกลูกให้แยกเป็นอักษร ๓ หมู่ตั้งแต่เริ่มแรก แล้วให้ผันเสียงวรรณยุกต์เพียง ๒ รูปก่อน คือ เอก โท ซึ่งมีใช้ในอักษรสูงและอักษรต่ำด้วยแล้ว จึงให้ผันอักษรกลางครบทุกวรรณยุกต์ ต่อไปสอนการใช้ไม้ม้วน ๒๐ คำ คำเป็นคำตาย การใช้อักษรสูงและอักษรกลางนำ ต่อไปจึงแจกลูกแม่ต่าง ๆ ตั้งแต่ แม่กน จนถึงแม่เกย และการใช้ ศ ษ และ ส

นอกจากความรู้ในทางภาษาไทยแล้ว มูลบทบรรพกิจยังมีมาตรา ชั่ง ตวง วัด การนับวันเดือนปี การนับเลขหลักหน่วยสิบร้อยจนถึงโกฏิ การอ่านวันขึ้นแรก ระเบียบการเขียน วันเดือนปีในหนังสือราชการ จัดว่าเป็นความรู้ทั่วไปที่มีประโยชน์มาก

๒) วาหนิติ์นิกร ว่าด้วยการใช้อักษรสูงนำอักษรต่ำ โดยจัดตามลำดับอักษร แจกรายละเอียดและมีตัวอย่างจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นพจนานุกรมในเรื่องนี้อย่างครบถ้วน ในตอนท้ายได้เพิ่มเรื่องอักษรกลางนำอักษรต่ำ ซึ่งมีอยู่ไม่มากนักนั้นเข้าไว้ด้วย

๓) อักษรประโยค ว่าด้วยการใช้อักษรควบ การผันอักษรควบกล้ำ คือ การผันอักษรสองตัวที่อยู่สระเดียวกัน อักษรที่เป็นตัวประโยค คือ ร ล ว  ซึ่งนำมาควบกับอักษรบางตัวแล้วแจกแม่ต่าง ๆ พร้อมด้วยการผันเสียงวรรณยุกต์ การที่ต้องแยกออกมาเป็นอีกตอนหนึ่งต่างหากเพราะมีวิธีผันต่างกับ วาหนิติ์นิกร

๔) สังโยคพิธาน ว่าด้วยเรื่องตัวสะกดในแม่ต่าง ๆ โดยเฉพาะคำที่มาจากภาษาบาลี เพราะมีตัวสะกดต่างกับคำไทย อาทิ

แม่กน มีอักษร ญ  ณ น ร ล ฬ  เป็นตัวสะกด

แม่กก มีอักษร  ก  ข ฃ  ค ฅ ฆ  เป็นตัวสะกด

แม่กด มีอักษร  จ ฉ  ช ซ ฌ ศ ษ ส  เป็นตัวสะกด

แม่กบ มีตัวอักษร บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ เป็นตัวสะกด

ตัวอักษรที่ยกมานี้ บางตัวก็ไม่มีคำใช้ในภาษาไทย เช่น ฝ คำที่ยกมาแต่ละแม่อยู่กันเป็นหมวดหมู่เพื่อให้จำง่ายขึ้น เช่น ตัว ล สะกด เล่ห์กล จอมสกล ทั่วสากล กลศึกษา รูปวิกล จริตพิกล กัลยา เวลากาล เวลาวิกาล กุลบุตร

๕) ไวพจน์พิจารณ์ ว่าด้วยคำที่เขียนต่างกัน แต่อ่านออกเสียงเหมือนกัน ตัวเดียวกันแต่สะกดต่างกัน อ่านออกเสียงอย่างเดียวกัน ต่างแต่เสียงสั้นเสียงยาว อาทิคำไวพจน์ที่มีอักษร ก เช่น ปีกุน  กุญแจ กุญชร  กุณฑี กองกุณฑ์ แก้วกุณฑล ฝูงสกุณ ดอกพิกุล ราชนิกุลฯ กูนเขลา กองพิธีกูณฑ์ พุทธางกูร อังกูร เกื้อกูล ตระกูล อากูล อนุกูล ปะฏิกูล ฯ

๖) พิศาลการันต์ กล่าวได้ว่าเป็นพจนานุกรมวิธีใช้การันต์ อธิบายไว้ว่า “มิใช่ตัวสะกดเติมลงไว้เพื่อจะให้เห็นเต็มคำซึ่งมีมาแต่ภาษามคธ และเสียงภาษาอื่นบ้าง เสียงไทยอ่านไม่ตลอดไปถึงจึงลงไม้ ‘  ์ ’  ไว้เป็นที่สังเกตว่าไม่อ่าน”

แบบเรียนหลวงทั้ง ๖ เล่มนี้ มีความสำคัญต่อการจัดการศึกษาของไทยในขณะนั้นมาก เพราะเป็นเหมือนหลักสูตรสำหรับโรงเรียน และมีการสอบ หรือที่เรียกว่า “การไล่หนังสือไทย” จากแบบเรียนหลวงทั้ง ๖ เล่ม

แบบเรียนหลวงทั้ง ๖ เล่มนี้ ใช้มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๓๑ จึงได้ยกเลิกให้ใช้แบบเรียนเร็ว ๓ เล่ม

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           แบบเรียนหลวง ๖ เล่ม