การตั้งโรงเรียนประชาบาลแห่งแรกของไทย “โรงเรียนวัดมหรรณพาราม”

การตั้งโรงเรียนประชาบาลแห่งแรกของไทย “โรงเรียนวัดมหรรณพาราม”

๓. โรงเรียนสำหรับราษฎรแห่งแรก “โรงเรียนวัดมหรรณพาราม”

ที่มา/ความสำคัญ

           การตั้งโรงเรียนหลวง (โรงเรียนสกูลหลวง) ในพระบรมมหาราชวัง เป็นการจัดการศึกษาสำหรับลูกหลานของเหล่าข้าราชการ ไม่ใช่การศึกษาสำหรับลูกหลานราษฎร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะจัดการศึกษาให้แพร่หลายถึงประชาชนพลเมือง ให้ทุกคนมีโอกาสได้เล่าเรียนอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ จึงโปรดให้พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) พระยาศรีสุนทรโวหาร พระยาภาสกรวงศ์ พระยาสมุทรบุรารักษ์ (สิน) พระสารสาสน์พลขันธ์ ขุนโอวาทวรกิจ และศาสตราจารย์แมคพาร์แลนด์ ดำเนินการตั้ง “โรงเรียนสำหรับราษฎร” โดยสถานที่ตั้งโรงเรียนอยู่ในวัด เนื่องจากประเพณีเดิมฝากเด็กไปเล่าเรียนตามวัดประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือ จะได้อาศัยที่ดินและศาลาที่มีอยู่แล้ว ทั้งภูมิก็เหมาะด้วยวัดมีอยู่ในชุมชนทั่วทุกหนทุกแห่ง โรงเรียนแรกที่ตั้ง คือ โรงเรียนวัดมหรรณพารามสาระสำคัญ/ผลที่เกิด

          โรงเรียนวัดมหรรณพารามอาศัยหอสวดมนต์หรือหอฉัน เป็นสถานที่สอนหนังสือ เริ่มเรียนประมาณ ๙.๐๐ น. และเลิกราว ๑๕.๐๐ น. นักเรียนส่วนใหญ่เป็นศิษย์วัด หลักสูตรการสอนมีการอ่าน การเขียน การคัดลายมือ การสะกดตัว การคัดสำเนาหนังสือ การเขียนจดหมาย เครื่องหมายวรรคตอนและไวยากรณ์ไทย หนังสือเรียนใช้แบบเรียนหลวง ๖ เล่ม จัดเป็น ๓ ชั้น คือ

๑)     ชั้นต้น เรียน มูลบทบรรพกิจ กับ วาหนิติ์นิกร

๒)     ชั้นกลาง เรียน อักษรประโยค กับ สังคโยคพิธาน

๓)     ชั้นปลาย เรียน ไวพจน์พิจารณ์ กับ พิศาลการันต์

           เมื่อผ่านได้ทั้ง ๓ ชั้นแล้ว ถือว่าจบการเรียนหนังสือไทยในสมัยนั้น ครูที่สอนทั้งหมดเป็นครูฆราวาส การเรียนการสอนไม่มีการสอบไล่ ใช้พิจารณาเลื่อนชั้นด้วยการสอบซ้อมเป็นรายตัว

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           โรงเรียนวัดมหรรณพาราม โรงเรียนแห่งแรกของไทย