การไล่หนังสือไทย ประโยค ๑

การไล่หนังสือไทย ประโยค ๑

๔. ไล่หนังสือประโยค ๑

ที่มา/ความสำคัญ

           หลังจากที่ได้มีการจัดทำแบบเรียนหลวง ๖ เล่ม โรงเรียนทั้งหลายได้นำแบบเรียนหลวงไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งให้เรียนรู้เลขและระเบียบวิธีการปฏิบัติราชการ ซึ่งการจัดการศึกษามีจุดมุ่งหมายที่จะให้เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้ตามแบบเรียนหลวง ๖ เล่ม เมื่อเรียนจบทั้ง ๖ เล่มแล้ว ถือว่าจบวิชาชั้นต้น แต่ความจริงปรากฏว่า ผู้ที่เรียนจบทั้ง ๖ เล่ม มีน้อยมาก ส่วนมากเรียนจบเพียงสังคโยคพิธาน ก็ลาออกไปสมัครรับราชการเป็นเสมียน การที่จะให้นักเรียนมีความรู้สูงขึ้นไปนั้นจำเป็นต้องให้นักเรียนอยู่เล่าเรียนจนจบทั้ง ๖ เล่ม และวิธีที่จะทำให้สำเร็จก็คือ จะต้องมีการสอบไล่หนังสือทำนองเดียวกับที่พระสงฆ์สอบพระปริยัติธรรมปีละ ๑ ครั้ง เพื่อแสดงว่า นักเรียนมีความรู้ถึงขั้นไหน แต่การสอบจะต้องทำอย่างจริงจังให้เป็นที่เชื่อถือจึงจะเห็นผล ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ จึงเกิดการไล่หนังสือขึ้นเป็นปีแรก

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

           การเรียนสำหรับสอบไล่หนังสือประโยค ๑ (ประโยคต้น) ใช้หนังสือมูลบทบรรพกิจจนถึงพิศาลการันต์ ถ้าผู้ใดสอบไล่ได้ก็จะได้หนังสือรับรองจากคณะกรรมการที่รับผิดชอบว่าเป็นคนที่มีความรู้จริง ถ้าผู้นั้นประสงค์จะเล่าเรียนก็สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนหลวงสำหรับสอบวิชาชั้นสูงได้ และเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ จึงมีการตั้งข้าหลวงเป็นทีมแม่กองไล่หนังสือ ทีมแม่กองไล่หนังสือชุดแรก ประกอบด้วย

           ๑) พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์)

           ๒) พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร

           ๓) พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์

           ๔) พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุญนาค)

           ๕) พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           ประกาศการเรียนหนังสือ