การเปลี่ยนแบบเรียนหลวง ๖ เล่ม เป็นแบบเรียนเร็ว ๓ เล่ม

การเปลี่ยนแบบเรียนหลวง ๖ เล่ม เป็นแบบเรียนเร็ว ๓ เล่ม

๗. แบบเรียนเร็ว ๓ เล่ม

ที่มา/ความสำคัญ

          เมื่อโรงเรียนหลวงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่หน้าที่การจัดโรงเรียนสำหรับประชาชนอยู่ที่ฝ่ายทหารจึงทรงแยกการจัดโรงเรียนออกจากกรมทหารมหาดเล็กมาจัดเป็นกรมใหม่ในราชการพลเรือน จึงโปรดให้ตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น ใน พ.ศ. ๒๔๓๐ มีหน้าที่จัดการศึกษาของบ้านเมืองและให้โอนโรงเรียนต่าง ๆ มาขึ้นในกรมศึกษาธิการ

           ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ กรมศึกษาธิการโดยสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เปลี่ยนแปลงหนังสือเรียนใหม่ คือ เลิกสอนตามแบบเรียนหลวง ๖ เล่ม ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) มาใช้แบบเรียนเร็ว ๓ เล่ม เหตุที่เปลี่ยนตำรานี้เพราะชุดแบบเรียนหลวง ๖ เล่มนี้สอนแต่อักขรวิธี นักเรียนต้องเรียนถึง ๓ ปี จึงจะจบชุด และโรงเรียนต้องสอนวิชาอื่นเพิ่มเติม และต้องการให้นักเรียนจบใน ๓ ปีด้วย จึงคิดแบบเรียนเร็วขึ้นใหม่ ๓ เล่ม เรียกว่า ‘แบบเรียนเร็ว’ เพื่อให้นักเรียนรู้อักขรวิธีภายในปีเดียวหรือปีครึ่งเป็นอย่างช้า หนังสือชุดนี้จัดพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๓๒

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

           แบบเรียนเร็วนี้สอนให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้และแต่งหนังสือได้ เมื่อครูจะใช้หนังสือนี้สอนนักเรียน จะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีสอนให้ผิดกับที่เคยสอนมาแล้ว คือ ไม่ใช้วิธีสอนให้เด็กท่องจำทั้งหมด ให้ท่องจำแต่ตอนที่เห็นว่าจำเป็นเท่านั้น นอกจากนั้น ยังมีความมุ่งหมายให้นักเรียนรู้จักเครื่องหมายต่าง ๆ ด้วยตาของตนเอง เมื่อเด็กพออ่านออกเขียนได้แล้ว ก็มีการสอนไวยากรณ์ ทั้งนี้ ก็เพื่อจะให้เด็กมีความสามารถเขียนเป็นเรื่องเป็นราวได้ แบบเรียนเร็วนี้มี ๓ เล่ม

           แบบเรียนเร็ว เล่ม ๑ เป็นหนังสือสอนอ่าน เริ่มต้นตั้งแต่ตัวพยัญชนะ การประสมสระ การอ่านคำง่าย ๆ ตั้งแต่คำ ๆ เดียว คำหลายคำ และจนกระทั่งถึงการอ่านเป็นประโยค

           แบบเรียนเร็ว เล่ม ๒ เป็นหนังสือที่สอนอ่าน เขียน และการใช้คำ มีตัวอย่างคำที่ใช้ ไม้ม้วน ไม้มลาย คำที่ใช้ตัว ฆ ญ ณ ธ คำการันต์และคำพ้อง

           แบบเรียนเร็ว เล่ม ๓ แบ่งเป็น ๓ ภาค ดังนี้

           ภาคที่ ๑ ว่าด้วยชนิดต่าง ๆ ของคำ แบ่งคำออกเป็น ๗ ชนิด คือ คำชื่อ คำกริยา คำคุณ คำวิเศษณ์ คำต่อ คำออกเสียง และคำแทนชื่อ ประโยค คือการนำคำหลายคำมารวมกันแล้วได้ความ แบ่งออกเป็นประโยค ๒ ส่วนบ้าง ๓ ส่วนบ้าง

           ภาคที่ ๒ ว่าด้วยวิธีแต่งประโยค คำแต่งจะแต่งได้ทั้งส่วนชื่อ ผู้ทำ ส่วนกริยาและส่วนชื่อผู้ถูกกระทำ และนอกจากจะนำคำมาแต่งได้แล้ว ยังผูกเป็นประโยคความรวมก็ได้

           ภาคที่ ๓ เป็นภาคเก็บใจความ วิธีเก็บคือ ลดคำที่นำมาแต่งออกเสียง ให้เหลือแต่ความสำคัญ

 

           มีการให้ชื่อตัวอักษรไทยทุกตัวเพื่อจำง่ายเรียนเร็ว คือ

ก ไก่              

ข ไข่

ฃ ฃวด

ค ควาย     

ฅ ตอ       

ฆ ระฆัง     

ง งู         

จ จาน  

ฉ ฉิ่ง

ช ช้าง      

ซ โซ่      

ฌ เฌอ     

ญ ผู้หญิง     

ฎ ชะฎา      

ฏ ปะฏัก     

ฐ ฐาน     

ฑ นางมณโฑ

ฒ ผู้เฒ่า

ณ เณร    

ด เด็ก      

ต เต่า       

ถ ถุง        

ท ทหาร   

ธ ธง       

น หนู

บ ใบไม้

ป ปลา

ผ ผึ้ง

ฝ ฝา

พ พาน

ฟ ฟัน

ภ สำเภา

ม ม้า

ย ยักษ์

ร เรือ

ล ลิง

ว แหวน

ศ ศาลา

ษ ฤาษี

ส เสือ

ห หีบ

ฬ ฬา

อ อ่าง

ฮ นกฮูก

 

 

 

 

 

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

          ๑) แบบเรียนเร็ว เล่ม ๑

          ๒) แบบเรียนเร็ว เล่ม ๒

          ๓) แบบเรียนเร็ว เล่ม ๓