การตราพระราชบัญญัติการสอบ
๘. พระราชบัญญัติการสอบ พ.ศ. ๒๔๓๓
ที่มา/ความสำคัญ
การเลิกใช้แบบเรียนหลวง ๖ เล่ม มาใช้แบบเรียนเร็ว ๓ เล่ม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๑ มีผลทำให้ต้องแก้ไขหลักสูตรสำหรับสอบไล่ให้สอดคล้องกัน ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติการสอบขึ้นในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๓ (ร.ศ. ๑๐๙)
สาระสำคัญ/ผลที่เกิด
พระราชบัญญัติการสอบ พ.ศ. ๒๔๓๓ มีรายละเอียดของการสอบ ดังนี้
ข้อ ๑ พ.ศ. ๒๔๓๔ ต่อไป ให้มีการสอบวิชา ปีละ ๒ ครั้ง
ข้อ ๒ การสอบวิชาในภาษาไทยให้กำหนดเป็น ๓ ชั้น คือ ประโยคที่ ๑ ชั้น ๑ ประโยคที่ ๒ ชั้น ๑ ประโยคที่ ๓ ชั้น ๑ วิชาที่จะสอบทั้ง ๓ ชั้นนี้เป็นความรู้ยากขึ้นเป็นลำดับ คือ
ชั้นประโยคที่ ๑... สอบวิชาเขียน อ่าน คัด เรียงความ ย่อความ แต่งจดหมายไวยากรณ์ ซึ่งได้แก่ อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณ์ เลข ลูกคิด และบัญชี วิชาเลขตลอดวิธีบวก ลบ คูณ หาร ทำโจทย์สามัญได้ตลอด
ชั้นประโยคที่ ๒... เหมือนประโยคที่ ๑ เพิ่ม วิชาเลขรู้ตลอดมาตราวิธี
ชั้นประโยคที่ ๓... เหมือนประโยคที่ ๒ เพิ่ม วิชาเลขรู้ตลอดเศษวิธี แลลูกคิด ตลอดทั้งวิธีทำบัญชีแลรู้จักทำตารางบัญชีต่าง ๆ
ข้อ ๓ การสอบวิชาความรู้ในภาษาอังกฤษนั้นให้กำหนดเป็น ๖ ชั้น
ชั้นที่ ๑ สอบอ่านอย่าง ๑ เขียนหนังสือให้ถูกต้องคำอย่าง ๑ ฝีมือเขียนหนังสืออย่าง ๑ แปลคำภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยอย่าง ๑ แปลคำภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษอย่าง ๑ ไวยากรณ์อย่าง ๑ วิชาคิดเลขอย่าง ๑ รวม ๗ อย่างด้วยกัน
ชั้นที่ ๒ สอบทั้ง ๗ อย่าง ๆ ชั้นที่ ๑ แลเติม...
ชั้นที่ ๓ สอบทุกอย่างเท่าชั้นที่ ๒ ต่างแต่ที่ยากขึ้น
ชั้นที่ ๔ สอบทุกอย่างเท่าชั้นที่ ๓ เปลี่ยนแต่ความรู้ที่จะพรรณนาลักษณะสิ่งของเป็นความรู้วิชาภูมิศาสตร์
ชั้นที่ ๕ ... วิชาเลขอย่างหนึ่ง...
ชั้นที่ ๖ สอบทุกอย่าง อย่างชั้นที่ ๕ เพิ่มสอบความรู้พงศาวดารต่างประเทศ ความรู้เหตุผลแลเรื่องราวของการค้าขาย ความรู้ดาราศาสตร์ และสรีรศาสตร์ด้วย
ข้อ ๔ ถ้านักเรียนคนใดสอบหนังสือไทย ได้ตั้งแต่ประโยค ๒ ขึ้นไป หรือสอบภาษาอังกฤษได้ตั้งแต่
ชั้น ๔ ขึ้นไป โปรดให้เป็นอิสระแก่ตัว พ้นจากหมวดหมู่สังกัดกรมซึ่งจำเป็นต้องรับราชการตามกฎหมายเดิมทุกคน
หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง
พระราชบัญญัติการสอบ พ.ศ. ๒๔๓๓