กำหนดพิกัดสำหรับการศึกษา ร.ศ. ๑๑๑
๙. พิกัดสำหรับการศึกษา ร.ศ. ๑๑๑
ที่มา/ความสำคัญ
ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ มีประกาศตั้งกรมศึกษาธิการเป็นกระทรวงธรรมการ และมีประกาศตั้งโรงเรียนชั้นมูลศึกษาขึ้นในวัดทั่วไปทั้งในกรุงและหัวเมืองเพื่อขยายการศึกษาให้ถึงประชาชนอย่างทั่วถึง แบ่งเป็นโรงเรียนมูลศึกษาชั้นต่ำ และโรงเรียนมูลศึกษาชั้นสูง ในการประกาศนั้น ได้ประกาศพิกัดสำหรับการศึกษาเป็นหลักสูตรในโรงเรียนมูลสามัญ ซึ่งพิกัดนี้เป็นกฎที่ระบุไว้อย่างชัดเจนให้เจ้าพนักงานและอาจารย์ที่จะสอนศิษย์ในโรงเรียนมูลสามัญ เกี่ยวกับกำหนดเวลาเรียน วิชาที่จะเรียน อัตราเวลาเรียนเป็นกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมทั้งรายละเอียด (หัวข้อ/เนื้อหา) ในแต่ละวิชามีด้วยกัน ๒ กฎ กฎที่ ๑ ว่าด้วยการศึกษาเป็นหลักสูตรในโรงเรียนมูลสามัญ กฎที่ ๒ ว่าด้วยพิกัดทางศึกษาในโรงเรียนมูลสามัญชั้นต่ำอย่างง่ายสำหรับโรงเรียนในตำบลบ้านนอก และศึกษาสถานในกรุงเทพฯ
สาระสำคัญ/ผลที่เกิด
การจัดการศึกษาตามพิกัดสำหรับการศึกษา เป็นหลักสูตรในโรงเรียนมูลสามัญ มีรายละเอียด ดังนี้
๑) จัดการศึกษาออกเป็น ๒ ชั้น คือ ชั้นมูลสามัญกับชั้นมัธยมศึกษา
๑.๑) ชั้นมูลสามัญ ประกอบด้วย มูลสามัญชั้นต่ำ เรียน ๓ ปี มูลสามัญชั้นสูง เรียน ๔ ปี
๑.๒) ชั้นมัธยมศึกษา จัดเป็นโรงเรียนชั้นกลาง ประกอบด้วย ชั้นกลางสามัญ เรียน ๔ ปี และ
ชั้นกลางสูง เรียน ๔ ปี
๒) วิชาที่เรียนในระดับมูลสามัญ
๒.๑) ระดับมูลสามัญชั้นต่ำ เรียนวิชาธรรมจารี อ่าน เขียน แต่งข้อความ ไวยากรณ์ และเลขวิธี อาจเพิ่มการเรียนวิชาขับร้อง
๒.๒) ระดับมูลสามัญชั้นสูง เรียนเหมือนมูลสามัญชั้นต่ำ แต่เพิ่มภูมิศาสตร์ พงศาวดาร วิชาการ เขียนรูปภาพ ภาษาอังกฤษ
๓) ชั้นมัธยมศึกษา จัดเป็นโรงเรียนชั้นกลาง แบ่งเป็น ๒ ชั้น
๓.๑) มัธยมศึกษาชั้นกลางสามัญ เรียนเหมือนชั้นมูลสามัญชั้นสูง เพิ่มวิชาภาษาอังกฤษ
มีกำหนดเวลาเรียน ๔ ปี
๓.๒) มัธยมศึกษาชั้นกลางสูง เรียนเหมือนมัธยมศึกษาชั้นกลางสามัญ เพิ่มไวยากรณ์ไทย บัญชี และลูกคิด นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาชั้นกลางสูง สามารถเรียนต่อระดับอุดมศึกษา หรือออกไปทำงานได้
๔) อุดมศึกษา จัดเป็นวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย
๕) พิเศษศึกษา จัดเป็นโรงเรียนพิเศษสำหรับวิชาเฉพาะ เช่น โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ โรงเรียนช่าง โรงเรียนเพาะปลูก โรงเรียนค้าขาย โรงเรียนผู้ดีชาย-หญิง
หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง
พิกัดสำหรับการศึกษา ร.ศ. ๑๑๑