ประกาศหลักสูตร พ.ศ. ๒๔๓๘

ประกาศหลักสูตร พ.ศ. ๒๔๓๘

๑๐. หลักสูตร พ.ศ. ๒๔๓๘

ที่มา/ความสำคัญ

           เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหนังสือเรียนใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๑ และในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้มีการจัดทำพระราชบัญญัติการสอบให้สอดคล้องกับสิ่งที่เรียน โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติกำหนดให้มีการสอบปีละ ๒ ครั้ง ความรู้หนังสือไทยให้จัด ๓ ประโยค ความรู้ภาษาอังกฤษซึ่งตั้งวิธีสอบขึ้นใหม่ ให้สอบเป็น ๖ ชั้น ถ้านักเรียนคนใดสอบหนังสือไทยได้ตั้งแต่ประโยค ๒ ขึ้นไป หรือสอบภาษาอังกฤษได้ตั้งแต่ชั้น ๔ ขึ้นไป โปรดให้เป็นอิสระแก่ตัว พ้นจากหมู่สังกัดกรม แต่การจัดการสอนในโรงเรียนขณะนั้นแตกต่างกัน โรงเรียนภาษาไทยสอนภาษาและวิชาด้วยภาษาไทยล้วน โรงเรียนภาษาอังกฤษก็สอนภาษาและวิชาด้วยภาษาอังกฤษ ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ กระทรวงธรรมการจึงได้จัดทำหลักสูตรขึ้น เพื่อกำหนดชั้นเรียนและวิชาที่เรียนให้ตรงกัน

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

          หลักสูตร พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้ปรับปรุงการจัดชั้นและวิชาของแต่ละชั้น ดังนี้

           ๑) ประโยค ๑ ถึง ประโยค ๓ ซึ่งประโยค ๑ และ ๒ แบ่งเป็น ๓ ชั้น และประโยค ๓ แบ่งเป็น ๔ ชั้น

           ๒) วิชาที่กำหนดให้เรียน

               ๒.๑) ประโยค ๑ ชั้น ๑ – ๓ เรียนการอ่าน การเขียน ไวยากรณ์ เลข ซึ่งเนื้อหาในแต่ละชั้นจะยากขึ้นตามลำดับ เช่น ชั้น ๑ ให้อ่านแบบเรียนเร็ว เล่ม ๑ หรือแบบสอนอ่านเรื่องนกกระจอก ชั้น ๒ ให้อ่านวิชาน่ารู้ เรื่อง ร่างกายของเรา ชั้น ๓ ให้อ่านพระราชพงศาวดาร และวิชาเลขเรียน หารยาว บวก ลบ คูณ หาร มาตราเงินไทย โจทย์ เศษส่วนอย่างง่าย

               ๒.๒) ประโยค ๒ ชั้น ๑ – ๓ เรียนวิชาต่าง ๆ เหมือนประโยค ๑ แต่เนื้อหามากและยากขึ้นตามลำดับ เพิ่มเรียงความ ย่อความ และ เลข เพิ่มการทำบัญชี หา ห.ร.ม. ค.ร.น. บัญญัติไตรยางศ์ชั้นเดียว ๒ ชั้น วิธีคิดดอกเบี้ย

               ๒.๓) ประโยค ๓ ชั้น ๑ – ๓ เรียนเหมือนประโยค ๒ แต่เพิ่มวิชาบังคับเรียน คือ บาลี และให้เลือกเรียนภาษาอังกฤษและภาษามลายูได้อีก ๑ ภาษา เรียนพีชคณิต เรขาคณิต ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วาดเขียน และธรรมจริยา

               ๒.๔) ประโยค ๓ ชั้น ๔ เทียบได้กับชั้นมัธยมศึกษา ให้เรียนเหมือนประโยค ๓ ชั้น ๓ แต่เพิ่มความยากขึ้น เพิ่มฟิสิกส์ กลศาสตร์ สรีรวิทยา และวาดเขียน

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

            หลักสูตร พ.ศ. ๒๔๓๘