โครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑

โครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑

๑๑. โครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑

ที่มา/ความสำคัญ

           การจัดการศึกษาของไทยที่ผ่านมายังไม่มีแบบแผนที่ชัดเจน หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสทวีปยุโรป ทรงทอดพระเนตรเห็นรูปแบบการจัดการศึกษาของประเทศตะวันตก ประกอบกับทรงเห็นว่านักเรียนได้เล่าเรียนอยู่ช้านาน ยังเรียนไม่สำเร็จทันพระราชประสงค์ที่จะทรงใช้ราชการ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุเรนทราธิบดี (ขณะนั้นเป็นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ อัครราชทูตพิเศษประจำราชสำนักอังกฤษ) หาแบบแผนการศึกษาที่เป็นประโยชน์และใช้ได้ในเมืองไทย ซึ่งในขณะนั้น กรมศึกษาธิการก็มีการดำริจัดรูปการศึกษาเพื่อให้เป็นหลักฐานและแพร่หลายอยู่แล้ว จึงรวมความเห็นเข้าด้วยกันและทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงเห็นชอบเป็นโครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑ ถือว่าเป็นโครงการศึกษาฉบับแรกของไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

           รายละเอียดของโครงการจัดแยกเป็น ๒ ภาค คือ ภาค ๑ ว่าด้วยการศึกษาในกรุงเทพฯ และ ภาค ๒ ว่าด้วยการศึกษาในหัวเมือง

ภาค ๑ ว่าด้วยการศึกษาในกรุงเทพฯ แบ่งเป็น ๑๐ หมวด โดยหมวดที่ ๑ ว่าด้วยแผนการศึกษาและลำดับชั้นโรงเรียน มีสาระสำคัญ ๒ เรื่อง ดังนี้

           ๑.๑) แบ่งประเภทการศึกษาเป็น ๒ สาย ได้แก่ สายสามัญ เรียนวิชาสามัญ เช่น การอ่าน การเขียน เลข บัญชี และศีลธรรม และ สายการศึกษาพิเศษ เป็นการศึกษาเฉพาะอย่าง เช่น การฝึกหัดครู การแพทย์ การช่าง และการค้า เป็นต้น

๑.๒) ระดับการศึกษา แบ่งออกเป็น

๑.๒.๑) มูลศึกษา รับเด็กอายุไม่เกิน ๗ ปี เปิดตามวัด ไม่กำหนดอายุผู้เรียน

๑.๒.๒) ประถมศึกษา อายุ ๘ – ๑๓ ปี กำหนดระยะเวลาเรียน ๖ ปี

๑.๒.๓) มัธยมศึกษา อายุ ๑๔ – ๑๗ ปี กำหนดระยะเวลาเรียน ๔ ปี

๑.๒.๔) สกลวิทยาลัย เป็นการศึกษาระดับอุดมศึกษา อายุ ๑๘ – ๒๒ ปี กำหนดระยะเวลาเรียน ๕ ปี

๑.๒.๕) การศึกษาพิเศษ เป็นสถานศึกษาเฉพาะวิชา เช่น โรงเรียนฝึกหัดครู/อาจารย์ โรงเรียนแพทย์ โรงเรียนกฎหมาย เป็นต้น

การศึกษาที่กล่าวมานี้ ปรากฏตามแผนภูมิต่อไปนี้

 

สำหรับหมวดที่ ๒ ถึงหมวดที่ ๑๐ จะว่าด้วยเรื่องการสอบไล่ ประมาณจำนวนเด็กในอายุเข้าโรงเรียนมณฑลกรุงเทพฯและจำนวนโรงเรียนที่ต้องการจะให้เพียงพอกับการศึกษาของเด็กนั้น  การที่จะให้โรงเรียนมากขึ้น การที่จะให้มีครูอาจารย์พอแก่โรงเรียน การตรวจ สมุดตำราเรียน โรงเรียนพิเศษ การใช้จ่ายในการศึกษา และการศึกษาสำหรับเด็กหญิง

ภาค ๒ ว่าด้วยเรื่องการศึกษาในหัวเมือง ไม่ได้แบ่งเป็นหมวด แต่จะครอบคลุมในรายละเอียดทุกข้อเหมือนภาคที่  ๑

           โครงการศึกษา ๒๔๔๑ เป็นโครงการศึกษาฉบับแรกของไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นแผนการศึกษาแล้วยังคลุมงานของกระทรวงธรรมการทุกแห่งทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นับตั้งแต่ชั้นมูลศึกษาจนถึงชั้นมหาวิทยาลัย การศึกษาสตรี การฝึกหัดครู การสร้างโรงเรียน การตรวจโรงเรียน หลักสูตร แบบเรียน ตลอดจนงบประมาณการศึกษา นับเป็นขั้นแรกที่ได้วางรูปการณ์ลงเป็นหลักฐานซึ่งจะเป็นการศึกษาสำหรับชาติต่อไป

           แต่เนื่องจากโครงการจัดทำขึ้นโดยเลียนแบบการจัดการศึกษาของประเทศอังกฤษ จึงไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยในสมัยนั้น เช่น ไม่ได้จัดสอนวิชาชีพเพื่อนำไปประกอบอาชีพจริง ๆ และการกำหนดให้การศึกษาแก่เด็กอายุต่ำกว่า ๗ ปี ทำได้ยากมาก เพราะในสมัยนั้นแม้เด็กโตก็ยังไม่สนใจที่จะเรียนหนังสือ

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           โครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑