ประกาศใช้แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๕

ประกาศใช้แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๕

๑๒. แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๔๕

ที่มา/ความสำคัญ

พ.ศ. ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์และคณะ ไปรับเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ณ ประเทศญี่ปุ่น และให้ดูงานการจัดการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นด้วย เมื่อกลับมาได้ทำรายงานการจัดการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นที่ต้องพระราชหฤทัย และนำมาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมจากโครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑ มาเป็นแบบแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๔๕ นับเป็นแผนการศึกษาฉบับที่ ๒ ของไทย

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

          แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๕ มีสาระสำคัญ ดังนี้

           ๑) แบ่งการศึกษา

               ๑.๑) สามัญศึกษา แบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ

                  - ประโยค ๑  ชั้นต้น  เป็น  ประถมศึกษา

                  - ประโยค ๒  ชั้นกลาง  เป็น  มัธยมศึกษา

                  - ประโยค ๓  ชั้นสูง  เป็น  อุดมศึกษา

               ๑.๒) วิสามัญศึกษา เรียกว่า การศึกษาพิเศษ แบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ

                  - ประถมศึกษาพิเศษ

                  - มัธยมศึกษาพิเศษ

                  - อุดมศึกษาพิเศษ

           ๒) กำหนดอายุผู้เรียนในแต่ละประโยค ดังนี้

                  - ประโยค ๑ อายุ ๑๐ – ๑๒ ปี

                  - ประโยค ๒ อายุ ๑๓ – ๑๕ ปี

                  - ประโยค ๓ อายุ ๑๖ – ๒๑ ปี

           ๓) การเล่าเรียนชั้นมูล (เตรียมประถมศึกษา) สำหรับเด็กตามวัดตามบ้านนอกจะสอนกันเอง การเรียนระดับประถมศึกษาจัดสอนในโรงเรียนต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในวัด ส่วนระดับมัธยมศึกษามีแต่ในกรุงเทพฯ คือ โรงเรียนสวนกุหลาบ โรงเรียนราชบูรณะ และโรงเรียนเบญจมบพิตร ส่วนระดับอุดมศึกษามี ๒ แห่ง คือ โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษ และโรงเรียนราชวิทยาลัย แต่โรงเรียนทั้ง ๒ แห่งนี้ได้ยกเลิกและเปลี่ยนไปเข้าประเภทวิสามัญศึกษา เรียกว่า มัธยมศึกษาพิเศษอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖

           ๔) การศึกษาพิเศษนี้เป็นการศึกษานอกจากวิชาสามัญ ไม่จำกัดว่าการศึกษาอย่างใดจะเป็นชั้นไหนสุดแล้วแต่โรงเรียนใดจะกำหนดเขตรับนักเรียน เพียงมีความรู้ชั้นสามัญศึกษาชั้นใดก็เป็นการศึกษาพิเศษชั้นนั้น ถ้าการศึกษาพิเศษอย่างใดยังไม่กำหนดเขตชั้นความรู้สามัญศึกษาพิเศษอย่างนั้น ก็ไม่เข้าในลำดับชั้นเหล่านี้

การศึกษาพิเศษที่เข้าลำดับชั้นแล้ว ก็คือ โรงเรียนประถมศึกษาพิเศษอังกฤษที่วัดสัมพันธวงศ์และโรงเรียนมหาดเล็กซึ่งจัดเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาพิเศษ

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๕