แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๐

แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๐

๑๔. แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๐

ที่มา/ความสำคัญ

           สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีรับสั่งว่า การจัดการศึกษาที่ผ่านมาก็เพื่อฝึกหัดคนเข้ารับราชการตามความประสงค์ของบ้านเมือง จนราษฎรพากันนิยมการเล่าเรียนเพิ่มขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ผลที่จะเกิดในภายหน้า ก็คือ ผู้เรียนไม่สมหวัง รวมทั้งได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบการศึกษา ใน พ.ศ. ๒๔๔๕ วิชาที่สอนอยู่ในโรงเรียนก็ได้แก้ไขเพิ่มเติมหลักสูตรให้สูงขึ้นด้วย กระทรวงธรรมการจึงได้มีการปรับปรุงแผนการศึกษาใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

           แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๐ มีสาระสำคัญ ดังนี้

           ๑) แบ่งการศึกษาเป็น ๒ สาย คือ สายสามัญศึกษาและสายวิสามัญศึกษา เช่นเดียวกับแผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๕ แต่ในแผนการศึกษาฉบับนี้ จะแยก ๒ สาย ออกจากกันเด็ดขาด

               ๑.๑) สายสามัญศึกษา เป็นการศึกษาทั่วไป เพื่อประชาคมส่วนรวม

                ๑.๒) สายวิสามัญศึกษา เป็นการศึกษาทางปฏิบัติ คล้ายกับโรงเรียนเทคนิค

           ๒) กำหนดหลักสูตรและการเรียนการสอนในโรงเรียนสามัญศึกษาและโรงเรียนวิสามัญศึกษา ดังนี้

               ๒.๑) หลักสูตรสามัญศึกษา มีหลักสูตรสามัญและพิเศษ ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา กำหนดเรียนอย่างละ ๓ ปี ในหลักสูตรมูลสามัญกำหนดให้เรียนวิชาเลข ต่อมา หลักสูตรประถมได้เพิ่มภูมิศาสตร์ พงศาวดาร และวิชาวาดเขียน ส่วนหลักสูตรมัธยม เพิ่มวิชาภาษาอังกฤษ วิชาคำนวณ วิทยาศาสตร์ สำหรับหลักสูตรพิเศษ จะสอนวิชาต่าง ๆ ตามความต้องการ แต่สอนภาษาต่างประเทศมากกว่าหลักสูตรสามัญ

               ๒.๒) หลักสูตรวิสามัญศึกษานั้น เป็นโรงเรียนทางปฏิบัติ คล้ายกับโรงเรียนเทคนิค แยกออกเป็นแผนกต่าง ๆ ได้แก่ แผนกอังกฤษ ช่าง แพทย์ ผดุงครรภ์ และครู

 

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๐