หลักสูตรสำหรับโรงเรียนผู้หญิง ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐)
๑๕. หลักสูตรสำหรับโรงเรียนผู้หญิง ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐)
ที่มา/ความสำคัญ
หลักสูตรการศึกษาที่จัดที่ผ่านมาเป็นการจัดการศึกษาสำหรับผู้ชาย เพื่อหวังเข้ารับราชการ
ส่วนผู้หญิงนั้นก็จะเป็นการเรียนวิชาการบ้านการเรือน ไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนหนังสือ กระทรวงธรรมการ
จึงจัดให้มีหลักสูตรมูลประถมและมัธยมสำหรับผู้หญิงขึ้น ใน พ.ศ. ๒๔๕๐
สาระสำคัญ/ผลที่เกิด
หลักสูตรสามัญศึกษาสำหรับโรงเรียนผู้หญิง ร.ศ. ๑๒๖ มีสาระสำคัญ ดังนี้
๑) แบ่งการศึกษาเป็น
๑.๑) มูลศึกษา ๒ ปี เป็นการศึกษามุ่งเพื่อเตรียมเด็กหญิงให้มีความรู้เบื้องต้นพอที่จะขึ้นเรียนชั้นประถมศึกษา
๑.๒) ประถมศึกษา ๓ ปี แบ่งเป็น ๒ หลักสูตร คือ
๑.๒.๑) ประถมจบ สำหรับเด็กหญิงที่ไม่ประสงค์จะเรียนต่อชั้นมัธยม
๑.๒.๒) ประถมต่อ สำหรับเตรียมเด็กหญิงให้มีความรู้สามัญพอที่จะเรียนในชั้นมัธยมต่อไป
๑.๓) มัธยมศึกษา ๔ ปี ทั้งนี้ การเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มุ่งสอนให้ผู้หญิงเป็นแม่ศรีเรือน ให้มีความรู้เพียงพอแก่การทำงาน
๒) วิชาที่กำหนดให้เรียนในแต่ละระดับ มีดังนี้
๒.๑) มูลศึกษา เรียนวิชาจรรยา ภาษาไทย เลข วิทยา ศิลปะ และกายบริหาร กำหนดเวลาเรียนสัปดาห์ละ ๒๕ ชั่วโมง ทั้งปี ๑ และ ปี ๒
๒.๒) ประถมจบ เรียนวิชาจรรยา ภาษาไทย คำนวณวิธี ภูมิศาสตร์ พงศาวดาร สุขวิทยา ศิลปะ การเรือน (การพยาบาล การทำกับข้าว ของกิน การบรรเลง) และกายบริหาร กำหนดเวลาเรียนสัปดาห์ละ ๒๗ ชั่วโมง ทั้ง ปี ๑ ปี ๒ และ ปี ๓
๒.๓) ประถมต่อ เรียนเหมือนประถมจบ แต่เพิ่มภาษาอังกฤษ กำหนดเวลาเรียนสัปดาห์ละ ๒๗ ชั่วโมง ทั้งปีตระเตรียม ปี ๑ ปี ๒ และปี ๓ ทั้งหลักสูตรประถมจบและหลักสูตรประถมต่อ นักเรียนจะต้องเรียนเตรียม ป.๑ ก่อน รวมเป็น ๔ ปี
๒.๔) มัธยมศึกษา มุ่งให้ผู้หญิงมีความรู้ทั้งภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ และวิชาการอื่น ๆ เพื่อเป็นผู้ปกครองบ้านเรือนและทรัพย์สมบัติ ต่อไปภายภาคหน้าได้อย่างดี วิชาที่เรียนได้แก่ จรรยา (ครองตน ครองคน ครองสมบัติ) สมาคม (กริยามารยาท : ปฏิสันถาร) ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คำนวณวิธี ภูมิศาสตร์ (พงศาวดาร) สุขวิทยา ศิลปะ การเรือน และกายบริหาร จะเห็นว่าวิชาที่เรียนเหมือนประถมต่อ แต่เรียนเนื้อหารายละเอียดมากและยากขึ้น ตลอดหลักสูตร ๔ ปี แต่ละปีใช้เวลาเรียน ๒๗ ชั่วโมงต่อสัปดาห์
หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง
หลักสูตรสำหรับโรงเรียนผู้หญิง ร.ศ. ๑๒๖