หลักสูตรมูลศึกษา ร.ศ. ๑๒๘ สำหรับเรียนชั่วระยะเวลา ๒ หรือ ๓ ปี อายุแต่ปีที่ ๗ ถึงปีที่ ๙

หลักสูตรมูลศึกษา ร.ศ. ๑๒๘ สำหรับเรียนชั่วระยะเวลา ๒ หรือ ๓ ปี อายุแต่ปีที่ ๗ ถึงปีที่ ๙

๑๗.  หลักสูตรมูลศึกษา ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒) สำหรับเรียนชั่วเวลา ๒ หรือ ๓ ปี อายุแต่ปีที่ ๗ ถึงปีที่ ๙

ที่มา/ความสำคัญ

           แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๒ ในส่วนสามัญศึกษานั้น มุ่งขยายการศึกษาให้กว้างขวางขึ้น และเน้นการให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาชั้นต้นของราษฎร ให้ทุกคนได้มีโอกาสเล่าเรียน ดังนั้น จึงเกิดหลักสูตรมูลศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๒ สำหรับนักเรียนชั่วระยะเวลา ๒ หรือ ๓ ปี อายุตั้งแต่ปีที่ ๗ ถึงปีที่ ๙ เพื่อการจัดการสอนให้นักเรียนอ่านหนังสือไทยออกก่อนจะเข้าเรียนในชั้นที่สูงกว่า

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

           หลักสูตรมูลศึกษา ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒) มีสาระสำคัญ ดังนี้

            ๑) แบ่งการศึกษาเป็น หลักสูตรมูลศึกษา สำหรับเรียนชั่วระยะเวลา ๒ หรือ ๓ ปี อายุตั้งแต่ปีที่ ๗ ถึงปีที่ ๙

            ๒) รายละเอียดของหลักสูตร แบ่งเป็นวิชาบังคับและวิชาไม่บังคับ ดังนี้

               ๒.๑) วิชาบังคับ ได้แก่

                       ๒.๑.๑) วิชาภาษาไทย ได้แก่ การอ่าน การเขียนให้ถูกต้อง การแต่งประโยค การเล่าเรื่อง

                       ๒.๑.๒) วิชาเลข ได้แก่ การบวก ลบ คูณ หาร ในใจ การหารสั้น หารยาว การบวก ลบ คูณ หาร มาตราง่าย ๆ การใช้ลูกคิด การทำบัญชี การทำใบสำคัญรับเงินและส่งสิ่งของ

                       ๒.๑.๓) การรักษาตัว (สุขศึกษา) เน้นการปฏิบัติให้รู้จักสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย ได้แก่ อาหาร อากาศ การออกกำลังกาย การรักษาความสะอาดในการกิน เครื่องนุ่งห่ม และบ้านเรือน รวมถึงการรักษาอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

                       ๒.๑.๔) จรรยา ได้แก่ การสอนธรรม ความประพฤติ และข้อปฏิบัติทางศาสนา ให้เลือกวิชาใดวิชาหนึ่ง คือ การฝีมือ เพาะปลูก และค้าขาย

               ๒.๒) วิชาไม่บังคับสอน ยอมให้เลือกสอนได้ตามความสามารถ

                       ๒.๒.๑) วิทยา มีความมุ่งหมายให้เด็กรู้จักสังเกตสิ่งรอบตัวในการเกิด การคงอยู่ และการเปลี่ยนแปลง วิธีสอน คือ ใช้ของจริง เช่น พืช วัตถุ สัตว์ มาให้เด็กสังเกต คิด ถามให้ตอบ

                       ๒.๒.๒) ศิลปะ เช่น เรื่องวาดเขียน ฝึกสังเกตสิ่งที่เห็นและถ่ายทอดด้วยการวาดภาพ สิ่งที่ควรปลูกฝังร่วมด้วย คือ ความสะอาด มีระเบียบ

                       ๒.๒.๓) ขับร้อง มุ่งสร้างความเบิกบาน ทำให้มีความสุข วิธีสอน คือ หัดร้องเพลงเพราะ ๆ ง่าย ๆ

                       ๒.๒.๔) การทหาร มุ่งเน้นในเรื่องระเบียบวินัย การเปลี่ยนอิริยาบถ ให้ร่างกายแข็งแรง ฝึกกิจกรรมหมู่ เพื่อดูความพร้อมเพรียง การรับฟัง ผู้นำ ผู้ตาม

               ในเรื่องการสอบไล่ ส่วนวิชาบังคับจะสอบให้คะแนนรายตัว ส่วนวิชาไม่บังคับ จะสอบให้คะแนนเป็นเปอร์เซ็นต์รวมทั้งชั้น

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           หลักสูตร์มูลศึกษา ร.ศ. ๑๒๘