หลักสูตรสามัญ ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔)

หลักสูตรสามัญ ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔)

๑. หลักสูตรสามัญศึกษา ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔)

ที่มา/ความสำคัญ

          การจัดการศึกษาในปลายรัชกาลที่ ๕ กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบจัดการศึกษาในท้องถิ่น ให้วัดหรือโรงเรียนเป็นสถานที่สอนหนังสือซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๔๔๕ การศึกษาในกรุงเทพฯให้กระทรวงนครบาลรับผิดชอบ ส่วนกระทรวงธรรมการรับผิดชอบให้มีโรงเรียนประถมอย่างน้อย ๑ โรงเรียน ในแต่ละเมืองและโรงเรียนมัธยม ๑ โรงเรียนในแต่ละมณฑล

           สำหรับหลักสูตรในเวลานั้น ประโยคมูลศึกษาเป็นการเตรียมการเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา ซึ่งจัดกันเอง ไม่มีแบบแผนชัดเจน กำหนดวิชาบังคับเรียน และเลือกสอน ไม่มีข้อกำหนดว่าเรียนเมื่อใดชั้นใด หลักสูตรจึงคล้ายเป็นธงที่ตั้งไว้เป็นจุดหมายปลายทางที่ต้องเดินไปให้ถึง แต่จะเดินอย่างไรขึ้นอยู่กับโรงเรียน ครู และนักเรียน กระทรวงธรรมการจึงจัดทำหลักสูตรสามัญศึกษา ร.ศ. ๑๓๐ ขึ้น ให้มีความชัดเจนเป็นระบบครอบคลุมทุกระดับชั้น  เป็นหลักสูตรที่มีความสมบูรณ์ทั้งสายสามัญ และสายพิเศษ สำหรับนักเรียนชายและหญิง ให้สามารถไปประกอบอาชีพ หรือเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไปได้

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

           หลักสูตรสามัญศึกษา ร.ศ. ๑๓๐ ประกอบด้วย ระดับมูลศึกษา ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ระดับละ ๓ ปี และมัธยมสูงอีก ๓ ปี มีสาระสำคัญ ดังนี้

           ๑) ระดับมูลศึกษา เป็นการบังคับเรียน ๓ ปี มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้พอควรแก่อัตภาพ มีความรู้เกี่ยวกับประวัติของชาติ จนเกิดความรักชาติ บ้านเมือง และมีอาชีพติดตัว วิชาที่เรียนประกอบด้วย

๑.๑) วิชาบังคับ จรรยา ภาษาไทย เลข ความรู้เรื่องเมืองไทย การรักษาตัว

๑.๒) วิชาเลือก เลือกเรียน ๑ วิชา การฝีมือ เพาะปลูก ค้าขาย

๑.๓) วิชาที่ครูเลือกสอน วิทยา ศิลปะ (วาดเขียน ขับร้อง)

           ๒) ระดับประถมศึกษา มุ่งให้ผู้เรียนเป็นคนดีมีความรู้ภาษาไทย คิดเลขได้ ทำบัญชีเป็น รู้จักประเทศไทยและความเกี่ยวข้องกับประเทศอื่น ฝึกนิสัยให้เป็นคนช่างสังเกต รักษาความสะอาดสวยงาม รักการทำงาน รู้จักคิด รู้จักแสวงหาความเจริญ ด้านอาชีพ ผู้เรียนมีอายุ ๑๐ – ๑๒ ปี เป็นหลักสูตรที่เรียนรวมทั้งประโยค ประกอบด้วยวิชาภาษาไทย คำนวณวิธี จรรยา ภูมิศาสตร์ พงศาวดาร วาดเขียน ส่วนวิชาเลือก คือ การฝีมือ เพาะปลูก ค้าขาย ยิมนาสติก

มีข้อกำหนดที่แตกต่างระหว่างนักเรียนหญิงและชายคือ หญิงเรียนภาษาไทยน้อยกว่า ๑ ชั่วโมง และบังคับเรียนมากกว่า คือ การฝีมือ และในปีสุดท้าย หญิงที่จะไม่เรียนต่อ ต้องเรียนการเรือนอีกสัปดาห์ละ ๓ ชั่วโมง

           ๓) ระดับมัธยมศึกษา มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้สูงขึ้น อ่านและสื่อสารภาษาไทยได้ถูกต้องคล่องแคล่ว ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารพอได้ คุ้นเคยกับหนังสือที่เป็นสมบัติของชาติ รู้จักโลก มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ รู้จักคิดอย่างมีเหตุมีผลถี่ถ้วนรอบคอบ ช่างสังเกต รักความงาม รู้จักรักษาตนเองให้แข็งแรงปลอดภัย และสามารถทำงานเป็นหมู่คณะได้

วิชาที่ทุกคนต้องเรียนเช่นเดียวกับระดับประถม เพิ่มเติมวิชาภาษาอังกฤษ ฟิสิออกราฟี สรีรศาสตร์กับสุขวิทยา ฟิสิกส์ภาคปฏิบัติ ยิมนาสติกส์ ส่วนวิชาเลือก คือ การฝีมือ เพาะปลูก ค้าขาย และเพิ่มวิชาทหารซึ่งเรียนนอกเวลา

มีข้อกำหนดที่แตกต่างระหว่างนักเรียนชายกับหญิงคือ หญิงไม่เรียนภาษาอังกฤษ ฟิสิออกราฟี ฟิสิกส์ปฏิบัติ ยิมนาสติก เรียนคำนวณน้อยกว่าชาย ๑ ชั่วโมง แต่มีเวลาเรียน จรรยา ภาษาไทย การฝีมือ และการเรือนมากขึ้น

เมื่อเรียนจบมัธยมแล้ว สามารถเรียนต่อมัธยมสูงได้อีก ๓ ปี เพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา รวมทั้งมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ สามารถเทียบเคียงหลักสูตรกันได้ ภาษาต่างประเทศ นอกจากภาษาอังกฤษ แล้วยังให้เรียนภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมัน หมวดพงศาวดารก็ให้ศึกษาประวัติศาสตร์ต่างประเทศโดยกว้างขวาง คำนวณวิธีให้เรียนตรีโกณมิติเพิ่มขึ้น หมวดวิทยาศาสตร์ ต้องเรียนเคมี หรือพฤกษศาสตร์ เพิ่มเติมจากฟิสิกส์ปฏิบัติ (กลศาสตร์ ความร้อน แม่เหล็กไฟฟ้า) ส่วนการทหาร คือ ระเบียบแถวและกายบริหารให้ใช้เวลานอกอัตราเวลาเรียน

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           หลักสูตรสามัญศึกษา ร.ศ. ๑๓๐