แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖ และ ๒๔๕๘

แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖ และ ๒๔๕๘

๓. แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖ และ ๒๔๕๘

ที่มา/ความสำคัญ

           การจัดการศึกษาในยุคปฏิรูป เร่งคนให้เข้าเรียนเพื่ออ่านออกเขียนได้จะได้ทำงานเป็นเสมียนในกระทรวงต่าง ๆ ทำให้ราษฎรยึดติดในคตินิยมให้ลูกหลานรับราชการเป็นเสมียน เพราะเป็นงานที่ไม่ตรากตรำเหนื่อยยากมีรายได้มั่นคง ทำให้เด็กชายที่เข้าเรียนยังไม่จบหลักสูตร พออ่านออกเขียนได้ก็พากันออกจากโรงเรียน มาทำงานเป็นเสมียนจนคนล้นงาน จึงพบว่าเป็นความเข้าใจผิด เพราะความรู้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่เพียงพอที่จะทำงานเสมียนได้ดี เมื่อล้มเหลว บางคนต้องลาออก จะไปประกอบอาชีพดังเดิมของพ่อแม่
ก็ไม่มีความชำนาญเพราะไม่ได้ฝึกฝน ความจริงแล้วบ้านเมืองต้องการผู้ประกอบอาชีพอื่น ๆ อีกมาก เช่น เกษตรกรรม เพราะมีที่ดินเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ได้อีกมาก และยังเป็นอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษ และในยุคที่บ้านเมืองขยายตัวเจริญก้าวหน้าเช่นนี้ ยังต้องการอาชีพช่างฝีมือหัตถกรรม ช่างก่อสร้าง อาชีพค้าขาย พาณิชยกรรมต่าง ๆ ไม่ใช่อาชีพทางหนังสืออย่างเดียว รัฐบาลมองเห็นภัยของคตินิยมในการรับราชการ เห็นว่า ถึงเวลาที่ต้องจัดการศึกษาให้หลากหลายกว้างขวางออกไป จนได้ชื่อว่าเป็นการศึกษาแห่งชาติ คือสอนให้พลเมืองมีความรู้ในการทำมาหาเลี้ยงชีพโดยควรแก่อัตภาพของตน ตามอุปนิสัย ความชอบ ความถนัด ความสามารถ และกำลังทรัพย์ของตน จึงเป็นที่มาของการประกาศใช้แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๕๖

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

           แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖ มีสาระสำคัญ ดังนี้

           ๑) กำหนดชื่อเป็น ๒ ประเภทคือ สามัญศึกษา และวิสามัญศึกษา

               ๑.๑) สามัญศึกษา คือ ความรู้สามัญที่ทุกคนต้องรู้ เช่น วิชาหนังสือ เลข จรรยา คือสอนให้ประพฤติดีละเว้นความชั่ว

               ๑.๒) วิสามัญศึกษา คือ ความรู้พิเศษ ซึ่งบุคคลพึงเลือกเรียนเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ไม่จำเป็นต้องเรียนให้รู้ทุกอย่าง เช่น วิชาครู วิชาแพทย์ วิชากฎหมาย วิชาต่าง ๆ

           ๒) ทั้งสองประเภทนี้ มีตั้งแต่ชั้นต่ำขึ้นไปจนชั้นสูง มีทั้งสามัญเป็นพื้นฐาน ที่เหนือชั้นขึ้นไปก็เป็นวิสามัญ

               การศึกษาดังกล่าวนี้ ยังแบ่งเป็น ๒ ภาค ตามประโยชน์ของผู้เรียนคือ ภาคการศึกษาบังคับ และ
ภาคการศึกษาพิเศษ

               ๒.๑) ภาคการศึกษาบังคับ คือ ความรู้ทั้งฝ่ายสามัญศึกษา และวิสามัญศึกษา ที่เป็นพื้นฐานความรู้ เพื่อให้รู้ผิดชอบชั่วดี รู้วิชากลาง ๆ ไว้ให้พอแก่ที่จะต้องใช้ทุกวัน รู้รักษาชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง ครองตนให้เป็นพลเมืองดีได้

               ๒.๒) ภาคการศึกษาพิเศษ คือ ความรู้สามัญศึกษาที่เหนือขึ้นไปไม่จำเป็นต้องรู้เหมือนกันทุกคน เรียกว่า มัธยมศึกษา และ วิสามัญศึกษา ที่กว่านั้นขึ้นไปไม่จำเป็นต้องรู้เหมือนกันทุกคน เรียกว่า อุดมศึกษา เป็นความรู้ที่ไม่บังคับ ให้เลือกเรียนได้ตามความพอใจ ตามทุนทรัพย์และสติปัญญา

               ดังแผนภูมิ

 

           ตามแผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖ นี้ ทำให้นักเรียนที่มีทุนทรัพย์น้อยหรือไม่ต้องการเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษา เมื่อเรียนจบชั้นป. ๓ แล้ว ต้องไปเรียนต่อประถมวิสามัญอีก ๒ ปี คือชั้น ป. ๔ – ๕ เป็นอันจบภาคการศึกษาบังคับ ส่วนนักเรียนที่มีทุนทรัพย์ หรือต้องการเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษา เมื่อเรียนจบประถมสามัญ ป. ๑ – ๓ แล้วก็เรียนต่อมัธยมสามัญศึกษา จบชั้น มัธยมปีที่ ๖ แล้วจะเรียนต่อมัธยม ๗ – ๘ หรือเรียนวิสามัญศึกษาชั้นต่ำก็ได้

           แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๘       

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๘ มีการแก้ไขแผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖ ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะแผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖ กำหนดการศึกษาประเภทวิสามัญศึกษาให้มีเฉพาะระดับประถมศึกษาและอุดมศึกษาเท่านั้น ยังขาดมัธยมศึกษา จึงแก้ไขโดยเพิ่มเติมวิสามัญชั้นมัธยมศึกษาขึ้นอีกเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นต่ำ ชั้นกลาง และชั้นสูง แต่ละชั้นมีวิชาต่าง ๆ และกำหนดเวลาเรียนกำกับไว้ การที่เรียกเป็น ๓ ชั้นไม่ได้หมายความว่า ต้องขึ้นไปตามลำดับชั้น แต่แบ่งตามลักษณะของนักเรียนชายและนักเรียนหญิง ดังแผนภูมิ

 

นักเรียนชายที่ไม่เรียนต่อระดับมัธยม ต้องเรียนประถมสามัญ ๓ ปี และประถมวิสามัญอีก ๒ ปี รวมเป็นประถม ๕ ปี ส่วนนักเรียนชายที่จะเรียนต่อระดับมัธยม ต้องเรียนประถมสามัญ ๓ ปี (ป. ๑ – ๓)  สามารถเรียนต่อชั้นมัธยมตอนต้น (ม. ๑ – ๓ ) ตอนกลาง (ม. ๔ – ๖) และตอนปลาย (ม. ๗ – ๘) เมื่อจบแต่ละตอนแล้ว สามารถเลือกได้ดังนี้

           ๑) เรียนต่อสามัญศึกษาในชั้นสูงขึ้นไป

           ๒) เรียนต่อในโรงเรียนวิสามัญตามชั้นที่กำหนดไว้

           ๓) ไม่เรียนต่อ สำเร็จการศึกษาตามชั้น

สำหรับนักเรียนหญิง แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๘ กำหนดให้จัดชั้นประถมศึกษา ๓ ปี มัธยมศึกษา ๖ ปี แบ่งเป็นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย เมื่อเรียนจบแล้ว อาจเรียนต่อในโรงเรียนฝึกหัดครูสตรี หรือโรงเรียนพยาบาลและผดุงครรภ์

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖ และ ๒๔๕๘