หลักสูตรหลวง หลักสูตรสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖

หลักสูตรหลวง หลักสูตรสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖

๔. หลักสูตรหลวง หลักสูตรสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖

ที่มา/ความสำคัญ

           การประกาศใช้แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖ ที่มุ่งเปลี่ยนค่านิยมด้านการศึกษาของพ่อแม่ผู้ปกครอง
ในยุคนั้นที่ต้องการให้บุตรหลานเรียนวิชาหนังสือ เพื่อทำงานสบาย มีอาชีพรับราชการ เป็นขุนนางเป็นเจ้าคนนายคน ให้มาสนใจและเห็นความสำคัญของอาชีพอื่น ๆ ทั้งอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษ และอาชีพใหม่ ๆ
ที่ขยายตัวขึ้นตามความเจริญของบ้านเมือง จึงจัดทำหลักสูตรหลวงหรือหลักสูตรสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

           หลักสูตรหลวง มีสาระสำคัญ ดังนี้

           ๑) แบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ

               ๑.๑) ระดับประถมศึกษา ๕ ปี แบ่งเป็นประถมสามัญ ๓ ปี วิสามัญ ๒ ปี

               ๑.๒) ระดับมัธยมศึกษา ๘ – ๙ ปี แบ่งเป็นตอนต้น ๓ ปี ตอนกลาง ๓ ปี และตอนปลาย (ชาย) ๒ ปี / (หญิง) ๓ ปี

               ระดับประถมศึกษา ประกอบด้วย

               ๑) วิชาสามัญ คือ  จรรยา ภาษาไทย เลข ความรู้เรื่องเมืองไทย การรักษาตัว วาดเขียน และลูกเสือ

               ๒) วิชาวิสามัญ คือ วิชาหาเลี้ยงชีพ ให้เลือก ๑ จากหัตถกรรม กสิกรรม พาณิชยกรรม

               ๓) วิชาไม่บังคับสอน ให้เลือกเรียนตามความสามารถคือ วิทยา และขับร้อง

ระดับประถมศึกษานี้ นักเรียนชายและหญิงเรียนเหมือนกัน นักเรียนหญิงสามารถเลือกเรียนการฝีมือประเภทต่าง ๆ ได้

             ระดับมัธยมศึกษา

               ๑) ตอนต้น เรียนวิชาสามัญ ประกอบด้วย วิชาจรรยา ภาษา (ไทยและอังกฤษ) คำนวณวิธี ภูมิศาสตร์-พงศาวดาร วิทยา วาดเขียน ลูกเสือ ให้นักเรียนหญิงเรียนการฝีมือและการเรือน ส่วนวิชาไม่บังคับสอน คือขับร้อง และดนตรี

               ๒) ตอนกลาง เรียนวิชาสามัญ ประกอบด้วย จรรยา ภาษา (ไทย อังกฤษ และ ฝรั่งเศสหรือเยอรมัน) คำนวณวิธี ภูมิศาสตร์–พงศาวดาร ฟิสิออกราฟี สรีรศาสตร์ และสุขวิทยา แปร็กติกลฟิสิกส์ และลูกเสือ สำหรับวิชาฟิสิออกราฟี สรีรศาสตร์ และสุขวิทยา และแปร็กติกลฟิสิกส์ ให้เลือกเรียนเพียง ๑ วิชา

               ๓) ตอนปลาย แบ่งเป็นหญิง และชาย

                   ๓.๑) หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายสำหรับนักเรียนหญิง ต้องเรียนวิชาจรรยา ภาษาไทยและอังกฤษ คำนวณวิธี ภูมิศาสตร์และพงศาวดาร วิทยาศาสตร์ วาดเขียน การฝีมือ การเรือน กายบริหาร

                   ๓.๒) หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายสำหรับนักเรียนชาย ต้องเรียน ๗ หมวดวิชา ประกอบด้วย

      ๓.๒.๑) หมวดภาษา : ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และ ภาษาฝรั่งเศสหรือภาษาเยอรมัน

      ๓.๒.๒) หมวดพงศาวดาร

      ๓.๓.๓) หมวดภูมิศาสตร์

      ๓.๒.๔) หมวดคำนวณวิธี : เรียนเลข พีชคณิต ยีออเมตรี ตรีโกณ

      ๓.๒.๕) หมวดวิทยา : ให้เลือก ๓ ข้อ จาก

                                  - เมแกนิสส์ ไฮโดรสแตติกส์

                                  - เสียง แสง และความร้อน

                                  - แม่เหล็ก ไฟฟ้า

                                  - อินออร์แคนิกเคมีสตรี (ธาตุ การแยก และการผสม)

                                  - พฤกษศาสตร์

๓.๒.๖) หมวดวาดเขียน

๓.๒.๗) หมวดวิชาลูกเสือ

เวลาเรียน หลักสูตรทุกระดับเรียนสัปดาห์ละ ๒๕ ชั่วโมง ยกเว้นหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายเรียนสัปดาห์ละ ๒๗ ชั่วโมง และอาจต้องเรียนนอกเวลาด้วย

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

          หลักสูตรหลวง พ.ศ. ๒๔๕๖