พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๖๑
๕. พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๖๑
ที่มา/ความสำคัญ
โรงเรียนราษฎร์ คือโรงเรียนที่รัฐหรือทางการไม่ได้เป็นผู้จัดตั้งและดำเนินการ มีมาตั้งแต่โบราณ เรียกว่า โรงเรียนบุคคล โรงเรียนเชลยศักดิ์ เริ่มจากชาวยุโรปเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ และวิทยาการด้านอื่น ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ เพื่อชักจูงให้เลื่อมใสศาสนา ต่อมาเมื่อโรงเรียนที่รัฐจัดตั้งมากขึ้น ตั้งแต่ยุคปฏิรูปการศึกษาจึงมีบุคคลและคณะบุคคลเปิดโรงเรียนมากขึ้นทั่วราชอาณาจักร โดยรัฐไม่ได้เข้าไปควบคุมดูแล จึงเริ่มมีปัญหา เพราะโรงเรียนจีนกลายเป็นแหล่งเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมือง ครูก็เป็นครูรุ่นใหม่ไม่รู้ภาษาไทย สอนด้วยภาษาจีน จึงเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองของเราที่มีลัทธิการปกครองที่แตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อควบคุมและดูแลให้เป็นระบบ ไม่เปิดสอนตามอำเภอใจ เพื่อให้อยู่ในกรอบขอบข่ายของกฎหมายไทย กระทรวงธรรมการจึงประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ฉบับแรกขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑
สาระสำคัญ/ผลที่เกิด
พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ ประกอบด้วย ๕ ลักษณะ ๓๓ มาตรา ว่าด้วย การตั้งและเปิดโรงเรียน การครอบงำโรงเรียน การปิดเลิกโรงเรียน โรงเรียนอนุบาล และวิธีการพิจารณาลงโทษ พระราชบัญญัตินี้ครอบคลุมโรงเรียนที่ตั้งมาก่อน และจะจัดตั้งใหม่ จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ มีสาระสำคัญ ในเรื่อง
๑) คุณสมบัติของผู้ขอจัดตั้ง ผู้จัดการโรงเรียน และครูใหญ่
๒) วิธีดำเนินการในการขอจัดตั้ง
๓) อำนาจหน้าที่ของเสนาบดีกระทรวงธรรมการ
๔) ข้อปฏิบัติในการดำเนินงานของโรงเรียน คือ การกำหนดเรื่องที่จะสอน การบริหารโรงเรียน ลักษณะและหน้าที่ของครูผู้สอน การรายงานผลการดำเนินงานของโรงเรียนปีละครั้งต่อกระทรวงธรรมการ และการตรวจตราสอดส่องโรงเรียน
๕) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการปิดโรงเรียน
๖) โรงเรียนอนุบาล
๗) การพิจารณาและลงโทษโรงเรียน ตามคำร้องคดีพิพาทด้วยการเปิดปิดโรงเรียน การไล่ครูออกต้องให้ศาลพิจารณาตามพยาน หลักฐานที่พิสูจน์ได้
ในกรณีที่มีการขัดขืน ต้องถูกลงโทษตั้งแต่เสียค่าปรับ จำคุก ปิดโรงเรียน
พระราชบัญญัติ ฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ในอนุมาตราที่ ๕ แห่งมาตราที่ ๒๕ เกี่ยวกับการสอนในลัทธิอื่น ในเชิงความมั่งคงของการปกครอง ทั้งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และบุคคลต่าง ๆ
หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง
พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๖๑ และพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๗๐