พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔
๖. พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔
ที่มา/ความสำคัญ
พระราชบัญญัติประถมศึกษา เป็นหัวใจสำคัญของการขยายการศึกษาไปสู่ประชาชนทุกคนในลักษณะการบังคับเข้าเรียน ตั้งแต่เริ่มตั้งกระทรวงธรรมการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ แต่มีอุปสรรคคือความไม่พร้อมหลาย ๆ ด้าน เมื่อสภาพเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป จึงมีประกาศจัดการศึกษาของมณฑลกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ มีสาระสำคัญให้ผู้ปกครองส่งเด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่ ๘ ทุกคนได้เล่าเรียนในโรงเรียนที่พอใจ และในแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้กล่าวถึง การศึกษาภาคบังคับแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีปัญหาด้านงบประมาณ เสนาบดีกระทรวงธรรมการทุกคนมีความพยายามผลักดันในเรื่องนี้ เพื่อแก้ไขปัญหางบประมาณ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้เสนอให้มีการเก็บเงินศึกษาพลีแต่ก็มีผู้เกรงว่าจะทำให้ราษฎรเดือดร้อน และรังเกียจไม่เห็นคุณค่าของการศึกษา การขยายการศึกษาอย่างรวดเร็วจะทำให้เกิดปัญหายุ่งเหยิงได้ มีการเสนอทางออกให้ว่า ไม่ควรจัดการพร้อมกันทั่วประเทศควรจัดในกรุงเทพฯก่อน เมื่อสำเร็จแล้วจึงขยายออกไป เมื่อสงครามโลก ครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลงใน พ.ศ. ๒๔๖๑ กระทรวงธรรมการได้เปรียบเทียบการศึกษาไทยกับต่างประเทศที่เจริญแล้ว พบว่า การจัดการศึกษาของเรามีข้อบกพร่องทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ หากรีรอต่อไป จะเกิดความเสียหายในภายหน้า ในปีต่อมา มีบันทึกของกรมตำรวจพระนครบาลและตำรวจภูธรเกี่ยวกับพลเมืองที่เป็นแขกมลายู แม้ว่าจะเป็นคนไทยแต่ไม่รู้หนังสือไทย ถึงได้รับการอบรมเรื่องจรรยาก็ยากที่จะจดจำ ไม่สามารถเป็นพลเมืองที่ดีได้
กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มีการประกาศ พ.ร.บ. ประถมศึกษา ฉบับแรก เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๖๔ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ เป็นกฎหมายฉบับแรกที่ให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ ๗ ปี บริบูรณ์ เรียนหนังสือในโรงเรียนจนอายุ ๑๔ ปี ถือเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง ๓๐ ปี
สาระสำคัญ/ผลที่เกิด
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ ถือเป็นกฎหมายบังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ ๗ ปี บริบูรณ์ เรียนหนังสือในโรงเรียนจนอายุ ๑๔ ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเล่าเรียน
พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ ประกอบด้วย ๕๒ มาตรา แบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ ๗ ลักษณะ คือ ข้อบังคับต่าง ๆ โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนประชาบาล โรงเรียนราษฎร์ สารวัตศึกษา วิธีพิจารณาและลงโทษ และข้อความเบ็ดเตล็ด แนบท้ายด้วยบัญชีท้องที่ที่ใช้พระราชบัญญัตินี้ จำนวน ๗ มณฑล ๓๒ จังหวัด ๗๔ อำเภอ ๓๓๔ ตำบล
สาระสำคัญอยู่ที่ลักษณะที่ ๑ ข้อบังคับต่าง ๆ เพราะระบุข้อบังคับที่ต้องทำ ข้อยกเว้นในกรณีต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับเวลาเรียน หลักสูตร การสอบไล่ การตรวจโรงเรียน และหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้องให้การจัดการศึกษาดำเนินไปได้คือ นายอำเภอต้องทำบัญชีรายชื่อเด็กตามอายุที่กำหนด แจ้งต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง และครูใหญ่ หน้าที่ครูใหญ่ และเสนาบดีกระทรวงฯ ที่มีอำนาจพิจารณา กรณีที่ผู้ปกครองร้องขอ
ลักษณะที่ ๓ โรงเรียนประชาบาล กล่าวไว้ค่อนข้างละเอียดหลายมาตรา เพราะเกี่ยวข้องกับประชาชนในท้องถิ่นโดยตรงที่จะต้องเลือกคณะบุคคลในท้องถิ่น ตั้งเป็นสภากรรมการไม่เกิน ๕ คน เป็นผู้จัดตั้งโรงเรียนและดำเนินการต่าง ๆ ซึ่งอาจมีมากกว่า ๑ โรงเรียนก็ได้ หน้าที่สภากรรมการโรงเรียนประชาบาล คือ
๑) เก็บเงินที่ประชาชนสมัครออกให้ทุกปี
๒) ดูแลการเงินของโรงเรียน ทั้งรายรับและรายจ่าย
๓) รักษาและดำรงโรงเรียนให้เป็นไปตามที่ควรจะเป็น กับจัดสถานที่เรียนและเครื่องใช้ให้ควรแก่การณ์
๔) ช่วยเหลือผู้ตรวจการของกระทรวงศึกษาธิการ สารวัตศึกษา และกรรมการศึกษา เมื่อต้องการให้ช่วยเหลือ
โรงเรียนประชาบาลจึงใช้งบประมาณหลักจากเงินที่เก็บจากราษฎรซึ่งมีข้อกำหนดให้เก็บเงินจากชายฉกรรจ์ที่อายุ ๑๘ – ๖๐ ปี ไม่ต่ำกว่า ๑ บาท ไม่เกิน ๓ บาท เรียกว่า เงินศึกษาพลี เก็บภายในเวลาที่อุปราชหรือสมุหเทศาภิบาลกำหนดเป็นปี ๆ ไป ตามความเห็นชอบของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีข้อยกเว้นสำหรับคนบางกลุ่ม นอกจากนั้น โรงเรียนประชาบาลยังได้รับเงินอุดหนุนจากงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการด้วย
รายได้ประจำปีของโรงเรียนประชาบาลยังต้องนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของสารวัตศึกษาที่แต่ละอำเภอตั้งขึ้น ทำหน้าที่สอบบัญชีเด็ก แจ้งความเอาผิดกับผู้ปกครองที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ และรายงานต่อนายอำเภอ
การประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา ทำให้มีจำนวนนักเรียนมากขึ้น ความต้องการแบบเรียนก็มีมากขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงจัดให้มีการคุ้มครองการพิมพ์ การจำหน่ายแบบเรียน ตลอดจนการตั้งพิกัดราคาแบบเรียนให้เป็นการยุติธรรมแก่เด็กที่ถูกบังคับให้เล่าเรียน แบบเรียนที่บุคคลแต่งขึ้นต้องส่งให้กรมตำรา กระทรวงศึกษาธิการตรวจก่อน เจ้าของหนังสือต้องเสียค่าตรวจร้อยละ ๕ บาท ของราคาหนังสือ ซึ่งจ่ายเฉพาะ ๑,๐๐๐ เล่มแรก ส่วนราคาหนังสือแต่ละเล่มกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำหนด
หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง
พระราชบัญญัติประถมศึกษา พระพุทธศักราช ๒๔๖๔