โครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔

โครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔

๗. โครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔

ที่มา/ความสำคัญ

          โครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ จัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของแผนการศึกษาฉบับก่อน ๆ โดยเฉพาะด้านวิชาอาชีพหรือวิชาการกสิกรรม จะเป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพของประชาชน ป้องกัน “โรคอยากเป็นเสมียน” ที่ระบาดอยู่ในเวลานั้น การให้ประชาชนได้เรียนตามอัตภาพ ทั้งวิชาสามัญและวิสามัญไปด้วยกันอย่างพอเหมาะ จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้

           หากราษฎรไม่ได้รับการศึกษาตามควรแก่อัตภาพดังที่ปรากฏในโครงการศึกษา จะไม่สามารถรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เช่น การเลิกทาส การแก้ไขวิธีพิจารณาความ การเลิกจารีตนครบาล เป็นต้น ทำให้ราษฎรมีอิสรภาพ ไม่ต้องมีสังกัดอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าขุนมูลนายเหมือนแต่ก่อน ราษฎรได้เป็นนายของตนเอง ดูแลตนเอง ครอบครัว และทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ จึงจำเป็นต้องมีความรู้และควรได้รับการส่งเสริมให้มีความรู้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปตามอัตภาพของตน ความรู้จะช่วยป้องกันตนเองจากพิษภัยที่เข้ามาพร้อมกับความเจริญและอารยธรรมต่าง ๆ จากภายนอก

           โครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งดัดแปลงมาจากแผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖ และ ๒๔๕๘ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

           สาระสำคัญของโครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ มีดังนี้

           ๑) ประเภทของการศึกษา แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

               ๑.๑) สามัญศึกษา ได้แก่ ความรู้สามัญซึ่งทุกคนควรเรียนรู้ตามควรแก่อัตภาพ เช่น วิชาหนังสือ เลข จรรยา ฯลฯ

               ๑.๒) วิสามัญศึกษา ได้แก่ ความรู้พิเศษ ที่พึงจะเลือกเรียนได้ตามควรแก่อัตภาพ เช่น วิชาแพทย์ วิชากฎหมาย วิชาชีพต่าง ๆ ฯลฯ

           ๒) การศึกษาทั้งปวงแบ่งเป็น ๒ ภาค คือ

               ๒.๑) ภาคศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ เรียกว่า ประถมศึกษา อันเป็นการศึกษาภาคบังคับ ได้แก่ ความรู้ ทั้งฝ่ายสามัญและวิสามัญศึกษา ซึ่งราษฎรควรมีความรู้ไว้เป็นพื้นทุกคน เพื่อให้รู้จักรับผิดชอบชั่วดี รู้วิชาที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน รู้จักการประกอบอาชีพและการเป็นพลเมืองดี

               ๒.๒) ภาคการศึกษาพิเศษ เรียกว่า มัธยมศึกษา เรียนทั้งวิชาสามัญและวิสามัญ เป็นความรู้ที่สูงกว่าระดับประถมศึกษา ไม่บังคับให้เรียนทุกคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์และสติปัญญาของผู้เรียน

           ๓) การแบ่งชั้นการศึกษา

               ๓.๑) ระดับประถมศึกษา แบ่งเป็นประถมสามัญ ๓ ปี (ป. ๑ – ๓) ประถมวิสามัญ ๒ ปี (ป. ๔ – ๕) รวมเป็น ๕ ปี นักเรียนชายจะต้องเรียนสามัญศึกษาและวิสามัญศึกษา จึงจะเรียกได้ว่าจบการศึกษาภาคบังคับ ส่วนนักเรียนหญิง เมื่อจบชั้นประถมปีที่ ๓ แล้ว ก็สามารถเข้าเรียนต่อในชั้นมัธยมวิสามัญขั้นต่ำ เพื่อเรียนวิชาที่เหมาะสมแก่เพศได้

               ๓.๒) มัธยมศึกษาสามัญ จัดเป็น ๓ ตอน คือ

     - มัธยมศึกษาตอนต้น ๓ ปี (ม. ๑ – ๓)

     - มัธยมศึกษาตอนกลาง ๓ ปี (ม . ๔ – ๖)

     - มัธยมศึกษาตอนปลาย ๒ ปี (ม. ๗ – ๘)

(๓) มัธยมวิสามัญ จัดเป็น ๓ ตอน เช่นเดียวกับมัธยมสามัญ มัธยมวิสามัญชั้นต่ำ

สำหรับนักเรียนชายซึ่งเรียนประถมศึกษาจบ ๕ ปีแล้ว เรียนมัธยมวิสามัญชั้นต่ำได้ แต่ถ้านักเรียนหญิง เมื่อจบประถมศึกษา ๓ ปีแล้ว ก็ไปเรียนมัธยมวิสามัญชั้นต่ำ เพื่อเรียนวิชาที่เหมาะสมแก่เพศได้เลย

ส่วนนักเรียนซึ่งต้องการเรียนให้สูงขึ้นไปนั้น เมื่อจบชั้นประถมศึกษา ๓ ปี ก็โอนไปเรียนมัธยมสามัญตอนต้น เมื่อสอบไล่ได้แล้วจึงยอมให้โอนไปเรียนมัธยมวิสามัญชั้นกลาง

การจำแนกการศึกษาเป็น ๒ ประเภท และ ๒ ภาค เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองพิจารณาว่าตนมีทุนรอนที่จะส่งเสริมการศึกษาให้ลูกหลานเพียงใด และลูกหลานมีสติปัญญาความสามารถ ความถนัดที่จะเรียนได้เพียงใด จึงเรียกว่า การศึกษาตามควรแก่อัตภาพ

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           โครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔