แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๕

แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๕

๑๐. แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๕

ที่มา/ความสำคัญ

           การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยคณะราษฎร์มีนโยบายที่จะให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเต็มที่ การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นต้องอาศัยการศึกษา พลเมืองที่มีการศึกษาย่อมทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง กระทรวงธรรมการจึงกำหนดหลักการศึกษาว่า รัฐบาลจะให้การศึกษาแก่พลเมืองอย่างเต็มที่ ให้ได้รับการอบรมในระบอบการปกครองตามแบบรัฐธรรมนูญ ให้ได้รับการศึกษาทางธรรมชาติ
ทางการงาน และการสมาคม ฝึกฝนให้รอบรู้มีปัญญาความคิด รู้จักค้นคว้าหาเหตุผลโดยตนเอง มีจรรยาประกอบด้วยกำลังกายและกำลังใจ ไม่ให้ละทิ้งจริยศึกษาแห่งชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีของไทยมุ่งให้ได้รับการศึกษา สามารถประกอบอาชีพ มีอนามัย และศีลธรรมที่ดีงาม

           กระทรวงธรรมการได้แถลงนโยบายการศึกษาว่า จะขยายการศึกษาภาคบังคับตามพระราชบัญญัติประถมศึกษาทั่วทั้งกรุงเทพฯ และหัวเมือง ปรับปรุงงานสำคัญ คือ การฝึกหัดครู วิชาชีพแผนกต่าง ๆ จัดให้มีมหาวิทยาลัยส่งเสริมให้มีอุปกรณ์การศึกษาเพียงพอแก่ความต้องการ และจะอุปถัมภ์พระศาสนา ทุกอย่างนี้จะดำเนินไปพร้อม ๆ กันตามกำลังทุนที่มี โดยจัดตั้งสภาศึกษา ซึ่งสภานี้ได้เสนอแผนการศึกษาชาติต่อรัฐบาลและประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๗๕

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

           แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๕ มีความมุ่งหมายให้พลเมืองทุกคนได้รับการศึกษาตามควรแก่อัตภาพ เพื่อประกอบอาชีพที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองโดยจัดการศึกษาให้ครอบคลุมทั้ง ๓ ด้านคือ จริยศึกษา พุทธิศึกษา และพลศึกษา รัฐบาลเป็นผู้ควบคุมการจัดการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนประชาบาล และโรงเรียนราษฎร์

 

ตามแผนการศึกษานี้ ประโยคประถมบริบูรณ์มี ๖ ชั้น รวมทั้งชั้นเตรียมประถมเดิม (มูลศึกษา) ประถมสามัญ ๔ ชั้น ประถมวิสามัญ ๒ ชั้น นักเรียนที่มีทุนทรัพย์ดี หรือมีสติปัญญาดี ก็เรียนต่อมัธยมต้นเมื่อจบป. ๔ แล้ว นอกนั้นควรเรียนประถมวิสามัญ คือ ปีที่ ๕ และ ๖ เพื่อจะได้มีวิชาชีพติดตัวไป ชั้นมัธยมแบ่งเป็น ๒ ตอน คือ มัธยมต้น และมัธยมปลาย ผู้ที่เรียนจบมัธยมต้นจะเรียนต่อสายสามัญศึกษามัธยมปลายก็ได้ หรือจะไปเรียนทางวิสามัญศึกษาก็ได้

การบังคับให้เรียนประถมสามัญ (ป. ๑ – ๔ ) เพื่อเป็นพื้นฐานหรือเครื่องมือให้เกิดสติปัญญา รองรับวิสามัญศึกษา และสามัญศึกษาชั้นสูงต่อไป

นอกจากนั้น แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๕ ยังอธิบายความหมายและข้อกำหนดที่รัฐบาลจะดำเนินการในเรื่อง ภาษาต่างประเทศ การศึกษาของหญิง การฝึกหัดครู การตรวจโรงเรียน การสำรวจอนามัยของนักเรียน การสอบไล่ และการรายงานการศึกษาประจำปีเสนอต่อรัฐบาล

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๕