พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๗๘

พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๗๘

๑๑. พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๗๘

ที่มา/ความสำคัญ

           การขยายการศึกษาภาคบังคับ ตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ ยังทำได้ช้าไม่ทั่วถึง เพราะมีเหตุหลายประการ เช่น ไม่สามารถจัดตั้งโรงเรียนให้ครบทุกตำบลได้ทั้งโรงเรียนที่รัฐจัดตั้งและโรงเรียนประชาบาลที่ใช้เงินของท้องถิ่นหรือเงินศึกษาพลี ความนิยมในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนยังไม่มากพอเพราะไม่เห็นความสำคัญและต้องการใช้แรงงานบุตรหลานมากกว่า ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎร์มีจุดมุ่งหมายสำคัญทางการศึกษาที่จะขยายการศึกษามีโรงเรียนครอบคลุมพลเมืองทุกพื้นที่ เพราะจะทำให้ประชาชนทุกคนเข้าใจ เห็นความสำคัญของการปกครองระบอบใหม่ จะได้มีความรู้ ความคิดที่จะเลือกคนในท้องถิ่นเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรได้ ดังปรากฏในแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๕ มีจุดมุ่งหมายที่จะขยายการศึกษาให้ประสบผลสำเร็จ สามารถตั้งโรงเรียนประชาบาลได้ครบทุกตำบล อย่างน้อยตำบลละ ๑ โรงเรียน รวมถึงการจัดการศึกษาให้ครบทั้ง ๓ ด้าน คือ จริยศึกษา พุทธิศึกษา และพลศึกษา โดยรัฐบาลจะสนับสนุนด้านอื่น ๆ ด้วย

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

           รัฐบาลประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ และประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๗๘ มีสาระสำคัญที่เปลี่ยนไปจากเดิม ดังนี้

           ๑) โรงเรียนประถมศึกษา ประกอบด้วย โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนประชาบาล โรงเรียนเทศบาล และโรงเรียนราษฎร์ ประเภทของโรงเรียนที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ โรงเรียนเทศบาล เทศบาลเป็นผู้จัดตั้งและจัดการด้วยเงินรายได้ของเทศบาล

           ๒) นักเรียนคือเด็กทุกคนที่มีอายุย่างปีที่ ๘ – ๑๕ ปี หรือสอบไล่ได้ประโยคประถมศึกษาตามหลักสูตรประถมศึกษาของกระทรวงธรรมการ

           ๓) การเข้าเรียนต้องเป็นเด็กตามบัญชีรายชื่อที่นายอำเภอประกาศเข้าเรียนจริง เดือนหนึ่งขาดเรียนได้ไม่เกิน ๗ วัน เรียนปีละไม่น้อยกว่า ๘๐๐ ชั่วโมง ทั้งนี้ บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ขอยกเว้นโดยร้องขอเป็น
ลายลักษณ์อักษรได้ต่อนายอำเภอ

           ๔) หน้าที่ของนายอำเภอต้องประกาศรายชื่อเด็กที่จะเข้าเรียนทุกปีแจ้งพ่อแม่ผู้ปกครอง และมีหน้าที่ยกเว้นเด็กที่มีข้อบกพร่องเรื่องสุขภาพ บ้านไกลโรงเรียนเกิน ๒ กิโลเมตร หรือตามที่บิดามารดาร้องขอด้วยเหตุจำเป็น

           ๕) ครูใหญ่ ต้องจัดให้มีทะเบียนนักเรียน บัญชีเรียกชื่อ และสมุดหมายเหตุรายวัน และยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้

           ๖) โรงเรียนประชาบาล มีข้อกำหนดคล้ายกับพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ ที่เปลี่ยนแปลง คือมีกรรมการ ๓ – ๕ คน โรงเรียนที่นายอำเภอจัดตั้งมีจำนวนตามที่เห็นสมควร โดยตามความเห็นของข้าหลวงประจำจังหวัดโดยใช้เงินที่ประชาชนสมัครใจหรือเงินงบประมาณของกระทรวงธรรมการ การใช้เงินงบประมาณนี้ทำให้เปิดโรงเรียนประชาบาลได้ทุกตำบล

           ๗) โรงเรียนเทศบาล กำหนดให้ท้องถิ่นที่มีฐานะเป็นเทศบาลแล้ว ให้รีบโอนโรงเรียนประชาบาลมาเป็นของเทศบาล และยังจัดตั้งโรงเรียนเทศบาลเพิ่มขึ้นได้ การดำรงอยู่หรือการจัดการโรงเรียนเทศบาล ให้ใช้เงินรายได้ของเทศบาลนั้น

           ส่วนลักษณะอื่น ๆ ในพระราชบัญญัติประถมศึกษา เช่น สารวัตรศึกษา วิธีพิจารณาและบทลงโทษ การรักษาพระราชบัญญัติก็ยังมีรายละเอียดปรากฏไว้เช่นเดิม การประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๗๘ ครั้งนี้ เป็นอันว่าได้ใช้พระราชบัญญัติทั่วพระราชอาณาจักรแล้ว

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           พระราชบัญญัติประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๔๗๘