แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙

แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙

๑๒. แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙

ที่มา/ความสำคัญ

            แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙ ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๔๗๙ หลังจากใช้แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๕ มาได้เพียง ๔ ปี ทั้งนี้ เพราะแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๕ มีระยะเวลาศึกษาวิชาสามัญนานเกินควร นักเรียนต้องเรียนสายสามัญถึง ๑๒ ปี และเรียนต่อสายวิสามัญอีกด้วย และการปรับปรุงครั้งนี้ทำให้การศึกษาเหมาะสมแก่กาลสมัยมากขึ้น โดยยังคงจุดมุ่งหมายเดิม คือขยายการศึกษาภาคบังคับให้มากที่สุดในระยะเวลา ๑๐ ปีแรกของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะสมบูรณ์ได้สมาชิกผู้แทนราษฎรต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่จบประถมศึกษาเกินครึ่งหนึ่งของประชาชนทั้งหมด

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

           ๑) ความมุ่งหมายของแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙ ต้องการให้พลเมืองทุกคนได้รับการศึกษาเพื่อทำหน้าที่ตามระบอบรัฐธรรมนูญได้เต็มที่ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อทวยราษฎร์อย่างแท้จริง การจัดการศึกษาประกอบด้วยสามัญศึกษาและอาชีวศึกษาอย่างสมบูรณ์ครบ ๓ ส่วน คือ พุทธิศึกษา ให้มีปัญญาความรู้ จริยศึกษา มีศีลธรรมอันดี และ พลศึกษา ให้มีร่างกายสมบูรณ์

           ๒) ระเบียบการศึกษา แยกการศึกษาแบ่งออกเป็น ๒ สถานะ คือ

                 ๒.๑) สามัญศึกษา คือ การศึกษาวิชาพื้นความรู้ทั่วไปในชั้นประถมศึกษา ๔ ปี มัธยมศึกษาตอนต้น ๓ ปี และตอนปลาย ๓ ปี

                 ๒.๒) อาชีวศึกษา คือความรู้ด้านการประกอบอาชีพ ซึ่งจะรับช่วงจากสามัญศึกษาทุกระยะที่จบประโยคสำหรับผู้ที่จะเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ต้องเรียนสำเร็จระดับเตรียมอุดมศึกษามาก่อน

           ๓) การศึกษาภาคบังคับตามพระราชบัญญัติประถมศึกษาในสถานศึกษาที่รัฐตั้งขึ้น เทศบาลตั้งขึ้น หรือเอกชนคือโรงเรียนราษฎร์ ทั้งนี้ รัฐอาจจะอุปถัมภ์โรงเรียนราษฎร์ตามระเบียบที่กำหนด และให้ทุนเล่าเรียนแก่นักเรียนได้ตามระเบียบที่กำหนดได้ สถานศึกษาต้องจัดให้มีผู้สอนที่มีประกาศนียบัตรหรือปริญญาที่เหมาะสมกับประเภทของการสอนตามสมควร

           ทั้งนี้ รัฐมีอำนาจควบคุมการจัดการศึกษา และจัดสอบแก่ครู และสอบวิชาสามัญเมื่อจบแต่ละประโยค

 

 

          

 

 

 

 

 

 

แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๗๙ นี้ทำให้นักเรียนทุกคนเรียนจบประถมศึกษาปีที่ ๔ ถ้าเรียนต่อมัธยมต้น ๓ ปี ปลาย ๓ ปี สามารถย้ายไปเรียนอาชีพได้เมื่อจบแต่ละตัวประโยค เมื่อเรียนจบมัธยม ๖ ปีแล้ว ประสงค์จะเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ต้องเข้าเรียนเตรียมอุดมศึกษาก่อน ๒ ปี

นอกจากกระทรวงธรรมการจะประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙ แล้ว ยังได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ แทนฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ โดยปรับปรุงขึ้นใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่กาลสมัยครอบคลุมโรงเรียนราษฎร์ประเภทต่าง ๆ ที่มีเพิ่มเติมขึ้นจากเดิม ข้อกำหนด นิยามศัพท์ ข้อบังคับ การตรวจ การลงโทษ ก็ละเอียดชัดเจนมากขึ้น พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ ประกอบด้วยลักษณะต่าง ๆ เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๖๑ แต่ว่าเพิ่มเติมให้มากขึ้นคือ

           ๑) การตั้งโรงเรียน

           ๒) การควบคุมโรงเรียน และการอุดหนุน

           ๓) การถอนใบอนุญาต

           ๔) โรงเรียนประเภทพิเศษ ได้แก่ อนุบาล การศึกษาผู้ใหญ่ โรงเรียนเฉพาะ เช่น ศาสนา และโรงเรียนประเภทส่งคำสอน

           ๕) บทลงโทษ

           ๖) เบ็ดเตล็ด

           ๗) บทเฉพาะกาล

พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ยังได้ออกกฎกระทรวงธรรมการเพิ่มเติมอีกด้วย

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           ๑) แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙

           ๒) พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พุทธศักราช ๒๔๗๙