ประมวลศึกษา ภาค ๒ พ.ศ. ๒๔๘๐

ประมวลศึกษา ภาค ๒ พ.ศ. ๒๔๘๐

๑๓. ประมวลศึกษา ภาค ๒ พ.ศ. ๒๔๘๐

ที่มา/ความสำคัญ

          ประมวลศึกษา หมายถึง ระเบียบ กฎข้อบังคับของกระทรวงธรรมการ ได้รวบรวมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่จัดการศึกษาค้นคว้าได้ง่าย ประมวลศึกษา ภาค ๑ ประกอบด้วย แผนการศึกษาชาติและคำอธิบายประกอบแผน

ส่วนประมวลศึกษา ภาค ๒ หมายถึง หลักสูตรชั้นประถมศึกษา หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น และหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นหลักสูตรแรกที่รัฐบาลประกาศใช้หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งกำหนดนโยบายสำคัญที่จะให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎรทุกชนชั้นเพื่อประโยชน์ในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย โดยประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙ ให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว เป็นการให้ความสำคัญต่อการศึกษาระดับประถมศึกษามากที่สุด ส่วนระดับที่สูงขึ้นก็ขยายด้านปริมาณ และปรับปรุงให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนเข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตย มุ่งให้ได้รับการศึกษาทั้งสามัญศึกษา และอาชีวศึกษา จะได้ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ สามารถทำประโยชน์แก่ตนเองและประเทศชาติ จึงประกาศใช้หลักสูตรใหม่ทั้ง ๓ ระดับ คือ ประถม มัธยมต้น และมัธยมปลายรวมเวลา ๑๐ ปี วิชาสำคัญที่เพิ่มขึ้นคือหน้าที่พลเมือง เชื่อว่าเมื่อนักเรียนจบประถมศึกษา จะมีความรู้ความเข้าใจการปกครองแบบใหม่เพียงพอที่จะเลือกผู้แทนราษฎรในท้องถิ่นของตนได้

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

           ประมวลศึกษา ภาค ๒ แบ่งหลักสูตรเป็น ๓ ตอน คือ ประถมศึกษาเรียน ๔ ปี มัธยมศึกษาตอนต้นเรียน ๓ ปี และมัธยมศึกษาตอนปลายเรียน ๓ ปี หลักสูตรมีจุดมุ่งหมายให้พลเมืองทุกคนได้รับการศึกษาทั้งสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา เพื่อทำหน้าที่พลเมืองดีตามรัฐธรรมนูญ และทำประโยชน์แก่ตนเองและประเทศชาติ

           ชั้นประถมศึกษา กำหนดให้เรียน ๑๑ วิชา คือ หน้าที่พลเมือง - ศีลธรรม ภาษาไทย เลขคณิต วิทยาการ ความเรื่องเมืองไทย วาดเขียน การฝีมือ ขับร้อง สุขศึกษา พลศึกษา ลูกเสือหรืออนุสภากาชาด(ให้เรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ รวม ๒๘ ชั่วโมงต่อสัปดาห์)

           ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เรียนวิชาเช่นเดียวกับประถมศึกษา เพิ่มวิชาภาษาต่างประเทศ รวมเป็น ๑๒ วิชา เปลี่ยนชื่อวิชาวิทยาการเป็นวิทยาศาสตร์ วิชาความรู้เรื่องเมืองไทยเปลี่ยนเป็นภูมิศาสตร์ – ประวัติศาสตร์ และเพิ่มเวลาเรียนมากขึ้น ลดเวลาเรียนพลศึกษาเหลือสัปดาห์ละ ๒ ชั่วโมง วิชาการฝีมือสำหรับนักเรียนชาย และการเรือนสำหรับนักเรียนหญิง รวมเวลาเรียน ๓๐ ชั่วโมงต่อสัปดาห์

           ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เรียนวิชาเช่นเดียวกับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ยกเว้นไม่เรียนขับร้อง และสุขศึกษา เพิ่มเวลาเรียน คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ และวิทยาศาสตร์ รวมเวลาเรียน ๓๐ ชั่วโมงต่อสัปดาห์

           เวลาเรียน สัปดาห์ละ ๖ วัน รวมสัปดาห์ละ ๒๘ ชั่วโมง ในชั้นประถมศึกษา และ ๓๐ ชั่วโมงในชั้นมัธยมศึกษา ทั้งนี้ ไม่รวมเวลาทำกิจกรรมอื่น เช่น ประชุม สวดมนต์ วิชาที่ปฏิบัติ เช่น การพักแรมของลูกเสือ การทำครัวในวิชาการเรือนให้ใช้เวลานอกหลักสูตร

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           ประมวลศึกษา ภาค ๒ พ.ศ. ๒๔๘๐ ตอนที่ ๑ หลักสูตรชั้นประถมศึกษา

ตอนที่ ๒ หลักสูตรชั้นมัธยมต้น

 ตอนที่ ๓ หลักสูตรชั้นมัธยมปลาย