หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๙๓
๑๕. หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๙๓
ที่มา/ความสำคัญ
แม้ว่าจะเปลี่ยนคณะรัฐบาลหลายคณะและอยู่ในภาวะหลังสงครามโลก ครั้งที่ ๒ รัฐบาลทุกคณะก็ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาให้พลเมืองได้รับการศึกษาโดยทั่วหน้า พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้ประกาศงดเก็บค่าเล่าเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ ๖ ลงมา และออกระเบียบฯ ว่าด้วยการส่งเสริมทุนการศึกษาแก่นักเรียนโรงเรียนประชาบาลและเทศบาล ส่งเสริมการศึกษาทุกส่วน ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ หลักสูตรสามัญได้มีการปรับปรุงเป็นหลักสูตรประถมศึกษา ๒๔๙๑ จึงได้มีการปรับปรุงหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายให้สอดคล้องกัน
สาระสำคัญ/ผลที่เกิด
หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๙๓ ใช้เวลาเรียน ๖ ปี ตอนต้น ๓ ปี และตอนปลาย ๓ ปี มุ่งให้เป็นการศึกษาของทวยราษฎร์อย่างแท้จริง เรียนวิชาที่เหมาะสมกับตนเองเพื่อการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพเป็นพลเมืองดีตามระบอบประชาธิปไตย
อัตราเวลาเรียนยังคงเดิม สัปดาห์ละ ๓๐ ชั่วโมง รอบสัปดาห์หนึ่งมีเวลาเรียน ๖ วัน ไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ชั่วโมงต่อปี ส่วนนอกเวลาเรียนให้ทำกิจกรรมตามดุลพินิจของครูใหญ่ เช่น การประชุมอบรม การศึกษานอกสถานที่ เช่น ลูกเสือ เป็นต้น
วิชาที่เรียนยังคงเป็นวิชาเดียวกับหลักสูตรเดิม แต่มีการปรับปรุงดังนี้
๑) แยกหน้าที่พลเมืองออกจากศีลธรรม จึงเพิ่มเวลาเรียนอีก ๑ ชั่วโมง เนื้อหาของวิชาหน้าที่พลเมืองที่เพิ่มเติมคือ สิทธิเสรีภาพของพลเมือง การเลือกตั้ง การบริหารงานในส่วนกลาง ภูมิภาค และเทศบาล รวมทั้ง ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม การประกอบอาชีพ และส่งเสริมอาชีพของคนไทย สถานที่และวัตถุที่สำคัญ ความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง การทนุบำรุง และส่งเสริม
ส่วนเนื้อหาวิชาศีลธรรม เรียนประวัติพระพุทธศาสนา และธรรมจริยาในหัวข้อต่าง ๆ ตามหลักสูตรเดิม
๒) วิชาภาษาอังกฤษ เพิ่มเวลาเรียนอีก ๑ ชั่วโมง เป็น ๖ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ลดเวลาเรียนวิชาคณิตศาสตร์ลง ๑ ชั่วโมง เป็น ๔ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มเวลาเรียนวิทยาศาสตร์เป็น ๓ ชั่วโมง ลดเวลาเรียนภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์เป็น ๒ ชั่วโมง
สำหรับลูกเสือหรืออนุกาชาดและพลศึกษา ใช้เวลาเรียนร่วมกันแต่ลดชั่วโมงลงจาก ๓ ชั่วโมง เหลือ ๒ ชั่วโมงต่อสัปดาห์
หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง
หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๙๓