ยุคแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๙๔

ยุคแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๙๔

๑๖. แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๙๔

ที่มา/ความสำคัญ

           ผลกระทบจากสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ทำให้รัฐบาลต้องฟื้นฟูประเทศทั้งด้าน การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และศีลธรรมโดยเร่งด่วน ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ และองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาติ หรือยูเนสโก ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสำรวจภาวะการศึกษาในประเทศไทย และช่วยปรับปรุงงานด้านการศึกษาให้การสนับสนุนด้านอุปกรณ์ ให้ทุนบุคลากรไปศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก แนวคิดการจัดการศึกษาจึงได้รับอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกา รัฐบาลในเวลานั้นมีแนวคิดที่จะขยายการศึกษาภาคบังคับมากกว่า ๔ ปี และยังเห็นความสำคัญของอาชีวะที่ควรสนับสนุนให้มีอยู่ต่อไปจนถึงระดับอุดมศึกษา

สาระสำคัญ/ผลที่เกิด

           แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๙๔     

           ๑) มีจุดมุ่งหมายให้พลเมืองได้รับการศึกษาพอเหมาะแก่อัตภาพ เพื่อเป็นพลเมืองดี มีร่างกายแข็งแรงและมีอนามัยสมบูรณ์ มีความรู้ความสามารถ ประกอบอาชีพ มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย จำเป็นต้องให้เด็กรับการศึกษาในโรงเรียน จนอายุย่างเข้าปีที่ ๑๕ เป็นอย่างน้อย

               ในการจัดการศึกษาต้องจัดให้ครบทั้ง ๔ ส่วน คือ จริยศึกษา พลศึกษา พุทธิศึกษา และหัตถศึกษา

           ๒) ระเบียบการศึกษา แบ่งออกเป็น ๕ ระดับ คือ

               ๒.๑) อนุบาล คือ การอบรมเด็กก่อนการศึกษาภาคบังคับ เป็นการเตรียมความพร้อม

               ๒.๒) ประถมศึกษา คือ การศึกษาวิชาที่เป็นพื้นความรู้เบื้องต้น ระยะเวลาเรียน ๔ ปี คือ ประถมปีที่ ๑ – ๔

               ๒.๓) มัธยมศึกษา แบ่งออกเป็น ๓ สาย ให้เลือกเรียนตามความถนัด คือ

                   ๒.๓.๑) มัธยมสามัญศึกษา คือ การศึกษาวิชาสามัญต่อจากประถมศึกษาและการฝึกหัดเพื่อการทำงาน ระยะเวลาเรียน ๓ ปี คือ มัธยมปีที่ ๑ – ๓

                   ๒.๓.๒) มัธยมวิสามัญ คือ การศึกษาที่เป็นพื้นความรู้เพื่อศึกษาต่อในชั้นเตรียมอุดมศึกษาหรืออาชีวศึกษา แบ่งเป็น ตอนต้น ๓ ปี ตอนปลาย ๓ ปี

                   ๒.๓.๓) มัธยมอาชีวศึกษา คือการศึกษาวิชาเฉพาะเป็นพื้นความรู้สำหรับการประกอบอาชีพ โดยรับช่วงต่อจากประถมศึกษา มัธยมสามัญ หรือ มัธยมวิสามัญทุกระยะที่จบประโยค แบ่งเป็นตอนต้น ๓ ปี และตอนปลาย ๓ ปี

               ๒.๔) เตรียมอุดมศึกษา คือการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาระยะเวลาเรียน ๒ ปี

               ๒.๕) อุดมศึกษา และมหาวิทยาลัย

           ๓) การศึกษาภาคบังคับ ได้แก่ การศึกษาที่มีกฎหมายบังคับให้เด็กทุกคนเรียนอยู่ในโรงเรียนจนพ้นเกณฑ์บังคับ รัฐเป็นผู้จัดให้โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน

           ๔) การศึกษาพิเศษและการศึกษาผู้ใหญ่ เป็นการเรียนที่ออกจากโรงเรียนไปแล้ว

           ๕) แนวการจัดการศึกษา คือ แนวทางที่รัฐจะสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาระดับต่าง ๆ ทุกด้าน

หลักฐาน/เอกสารอ้างอิง

           แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๙๔