เกี่ยวกับเรา
ห้องสมุดสำนักวิชาการและมาตรฐานศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ประวัติความเป็นมา
ห้องสมุดนี้ตั้งมาพร้อมกับการตั้งกรมศึกษาธิการ (ราว พ.ศ. ๒๔๓๐) เมื่อแรกตั้งมีหนังสือภาษาต่างประเทศ ๑,๐๕๐ เล่ม หนังสือภาษาไทย ๕๔๑ เล่ม นิตยสารที่รับ ๑๓ ฉบับ เดิมเรียกว่าห้องสมุดกรมศึกษาธิการ เคยอยู่ในสังกัดกรมต่าง ๆ ดังลำดับต่อไปนี้
พ.ศ. ๒๔๓๐ – ๒๔๕๔ ขึ้นอยู่ในสังกัดกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ
พ.ศ. ๒๔๕๔ – ๒๔๖๓ ขึ้นอยู่ในสังกัดกรมราชบัญฑิต กระทรวงธรรมการ
พ.ศ. ๒๔๕๙ กรมราชบัณฑิตซึ่งเดิมเป็นกรมขึ้นตรงต่อกระทรวง ได้ย้ายมาขึ้นกับกรมศึกษาธิการ จึงได้จัดวางระเบียบหัวข้อราชการขึ้นในกรมราชบัณฑิตใหม่ ห้องสมุดจึงได้มีฐานะเป็นแผนก ๆ หนึ่งในกรมราชบัณฑิต ซึ่งเป็นกรมในสังกัดกรมศึกษาธิการ) หน้าที่ของ แผนกห้องสมุดในขณะนั้นคือ จัดและรักษาห้องสมุดกรมศึกษาธิการและจัดห้องสมุดประชาชน (ในสมัยนั้นเรียกว่า ห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชน)
พ.ศ. ๒๔๖๐ แผนกห้องสมุด มีหน้าที่จัดและดูแลห้องสมุดของกระทรวงธรรมการและ สามัคยาจารยสมาคม ตลอดจนเป็นเจ้าหน้าที่ห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชนด้วย
กรมตำรา (พ.ศ. ๒๔๖๓ - ๒๔๗๓ )
พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้เปลี่ยนชื่อกรมราชบัณฑิตเป็นกรมตำรา จากรายงานกระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. ๒๔๖๘ ระบุว่า "ห้องสมุดกรมตำรา" ก็คือ "ห้องสมุดของกระทรวงศึกษาธิการ"
พ.ศ. ๒๔๖๙ แผนกห้องสมุดมีหน้าที่จัดห้องสมุดสำหรับกระทรวงและจัดห้องสมุดในที่ต่างๆ ทั่วไป เพื่อให้ชนทุกชั้น ชาติ ศาสนา ได้มีโอกาสหาความรู้ด้วยตนเอง โดยการอ่านหนังสือ เรียกว่า ห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชน
กรมวิชชาธิการ (พ.ศ. ๒๔๗๓ - ๒๔๗๖)
กรมศึกษาธิการ กองวิชาการ (พ.ศ. ๒๔๗๖ - ๒๔๘๒)
ต่อมากรมศึกษาธิการได้ถูกยุบเลิก เพราะเป็นกรมใหญ่และมีหน่วยราชการในสังกัดมาก จึงจัดตั้งขึ้นใหม่เป็นกรมใหญ่ ๒ กรม คือ กรมวิชาการ และกรมสามัญศึกษา ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๘๒
กรมวิชาการ (เดิม) กองตำรา (พ.ศ. ๒๔๘๒ - ๒๔๘๔)
พ.ศ. ๒๔๘๔ กรมวิชาการเปลี่ยนชื่อเป็นกรมอาชีวศึกษา
กรมอาชีวศึกษา กองวิชาการ (พ.ศ. ๒๔๘๒ - ประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๓)
สำนักงานปลัดกระทรวง (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๔๙๕) เป็นระยะที่เรียกได้ว่า ห้องสมุดปิด เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ไม่มีงบประมาณ
กรมวิชาการ (พ.ศ. ๒๔๙๕ - ปัจจุบัน)
พ.ศ. ๒๔๙๘ แผนกห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์ได้ย้ายไปอยู่ที่ตึกสร้างใหม่ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีสถานที่เป็นเอกเทศ
พ.ศ. ๒๔๙๕ ห้องสมุดมีฐานะเป็นแผนกหนึ่งในกองอุปกรณ์การศึกษา เรียกชื่อว่า "แผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์" อาศัยตึกชั้นบนของกระทรวงเป็นที่ทำการ เพราะในปี ๒๔๙๕ ซึ่งเป็นปีแรกที่ตั้งกรมวิชาการ จึงยังไม่มีที่ทำการเป็นสัดส่วนของตนเอง
พ.ศ. ๒๕๐๖ ศูนย์วัสดุการศึกษาได้ก่อตั้งขึ้นและอยู่ในความดูแลของกรมวิชาการ เป็นตึก ๓ ชั้น อยู่ภายในบริเวณคุรุสภา ได้ทำการเปิดตึกเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๐๖ ห้องสมุด กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้แยกจากกองอุปกรณ์การศึกษามาขึ้นกับศูนย์วัสดุการศึกษา (ภายใน บริเวณคุรุสภา) เป็นหน่วยห้องสมุด มีชื่อเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า "ห้องสมุดศูนย์วัสดุการศึกษา" มีที่ทำการอยู่ชั้น ๒ ของตึกศูนย์วัสดุการศึกษา ในขณะนั้นห้องสมุดมีหน้าที่ดังนี้
- รวบรวมแบบเรียน และหลักสูตร
- ตำราที่เกี่ยวกับการศึกษาและอุปกรณ์การสอนอื่น ๆ
- ให้บริการแก่ข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
- ให้บริการนักศึกษาตลอดจนผู้สนใจทั่วไป
พ.ศ. ๒๕๑๖ ห้องสมุดเป็นหน่วยงานหนึ่ง ขึ้นอยู่กับฝ่ายวิชการกองตำราเรียกว่า "งานห้องสมุด" มีหน้าที่ดำเนินการในเรื่องห้องสมุด หลักสูตร แบบเรียน หนังสือตำรา และเอกสารอื่น ๆ ชื่อว่าห้องสมุดกระทรวงศึกษาธิการ จนกระทั่งปลายปี ๒๕๒๐ ห้องสมุดจึงได้ย้ายไปอยู่ที่อาคารกรมวิชาการ สถานที่ทำการอยู่ชั้น ๓ ตั้งอยู่เลขที่ ๙๒๘ ถนนสุขุมวิท บริเวณอาคารท้องฟ้าจำลอง แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ๑๐๑๑๐ และได้เปลี่ยนชื่อจาก "ห้องสมุดกระทรวงศึกษาธิการ" มีชื่อว่า "ห้องสมุดกรมวิชาการ" มีฐานะเป็นฝ่ายหนึ่งของศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้มีประกาศพระราชบัญญัติ การปฏิรูประบบราชการ ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ โดยรวม กรมสามัญศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ และกรมวิชาการ มาสังกัดในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ละนั้นเองที่ ห้องสมุดกรมวิชาการ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ห้องสมุดสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา" ซึ่งเป็นงานหนึ่งของกลุ่มงานบริการทางวิชาการและโครงการตามนโยบาย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ต่อมา “ห้องสมุดสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา” ได้มีการพัฒนารูปแบบการให้บริการเป็นห้องสมุดออนไลน์ (www. lib.obec.go.th) นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนา “โปรแกรมระบบห้องสมุดอัตโนมัติ สพฐ. OBEC Library Automation System” จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการห้องสมุดในด้านต่าง ๆ ทำให้บรรณารักษ์สามารถทำงานห้องสมุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ เมื่อปี พ.ศ. 2562 ห้องสมุดสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ซึ่งเป็นงานหนึ่งของกลุ่มพัฒนาและส่งเสริมวิทยบริการ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวิวัฒนาการหลักสูตรและแบบเรียนไทย และห้องสมุดออนไลน์ ให้อยู่ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทางด้านหลักสูตรและแบบเรียนไทย โดยใช้ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์หลักสูตรการศึกษาไทยและหนังสือเรียนระดับขั้นพื้นฐาน